ประวัติบุคคลสำคัญของไทย
ศิลปินแห่งชาติ
นายกมล ทัศนาญชลี
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม)
นายกมล ทัศนาญชลี เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นศิลปินคนสำคัญและดีเด่นในด้านจิตรกรรมและสื่อผสมร่วมสมัยของไทยที่ได้รับการยอมรับและยกย่องทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเผยแพร่ศิลปะและอุทิศตนให้กับงานการกุศล ดำรงและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในความเป็นศิลปินที่ดีงาม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี จึงรับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๐
เป็นศิลปินที่อุทิศตนให้กับการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ได้รับพัฒนาผลงานศิลปะร่วมสมัยตลอดเวลา จนเป็นที่ยอมรับว่า เป็นผู้นำคนสำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย มีผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตนในแนวทางสากลที่มีพื้นฐานจากศิลปะแบบประเพณีไทยในอดีต นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในเรื่องการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนและส่งเสริมศิลปินและนักวิชาการศิลปะของไทยในเรื่องการศึกษาและหาประสบการณ์
เป็นผู้ดำเนินการศูนย์ศิลปกรรมไทยและสภาศิลปกรรมไทย เพื่อการเผยแพร่ศิลปะไทยในสหรัฐอเมริกา ให้บริการสังคมด้วยศิลปะและวิชาการเป็นอย่างดี ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เป็นวิทยาทานแก่สถาบันการศึกษาวิชาศิลปะทั่วประเทศและในต่างประเทศ
นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นามปากกา “พนมเทียน” เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ที่จังหวัดปัตตานี เป็นนักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวรรณศิลป์ที่ทรงคุณค่าไว้อย่างมากมายและต่อเนื่องมาเกือบ ๕ ทศวรรษ
ผลงานของเขาเป็นที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมของผู้อ่านตลอดมา โดยเฉพาะนวนิยาย ซึ่งมีจำนวนถึง ๓๘ เรื่อง หลายเรื่อง เช่น จุฬาตรีคุณ เล็บครุฑ เพชรพระอุมา และ ศิวาราตรี มีความโดดเด่นเฉพาะตัว อย่างที่จะหานักเขียนแนวเดียวกันมาเทียบเคียงได้ยาก “พนมเทียน” เป็นนักฝัน เขาถึงสามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงานโดยมีความรอบรู้ และประสบการณ์อันหลากหลายเป็นพื้นฐาน งานของเขาจึงมีหลายประเภทหลายแนว คือ มีทั้งประเภทจินตนิยาย อาชญนิยาย นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แนวผจญภัย แนวพาฝัน ตลอดจนแนวสาระนิยาย คุณลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของเขา คือ การใช้ภาษาด้วยลิลาอันงดงามและให้ภาพที่คมชัด งานของเขาจึงส่งผลสืบเนื่องไปถึงการสร้างงานศิลปะแขนงอื่น เช่น ละครวิทยุ ละครเวที ตลอดจนเพลงประกอบละครเวที โดยเฉพาะเรื่อง จุฬาตรีคูณ นั้น เป็นที่นิยมกันมาตลอด 5 ทศวรรษ นอกจากเรื่อง จุฬาตรีคูณ จินตนิยายเรื่อง ศิวาราตรี ของ พนมเทียน ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ สกลวรรณ นำ ศิวาราตรี มาเขียนเป็นร้อยกรองยาวกว่า ๓๐,๐๐๐ คำกลอน โดยอาศัยความงามแห่งภาษาร้อยแก้วของ พนมเทียน เป็นพื้นฐาน
งานเขียนของพนมเทียน มิได้เพียงแต่พาผู้อ่านเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการที่มีแต่ความบันเทิงใจ หากอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นได้ว่าผู้เขียนยึดถือหลักการมนุษยธรรมอย่างมั่นคง เขาเห็นว่าโลกและชีวิตดำรงอยู่ด้วยมนุษยธรรม สันติภาพและภารดรภาพ อันเป็นอุดมการณ์ของมนุษยชาติ ผลงานของเขาจึงให้ทั้งความสำเริงอารมณ์และคุณค่าแห่งสาระที่แฝงอยู่เบื้องลึก พนม เทียน ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีวรรณศิลป์และมีคุณค่าประทับใจผู้อ่าน ต่างรุ่น ต่างวัย และต่างสถานภาพ มาเป็นเวลายาวนานกว่าเกือบครึ่งศตวรรษ
นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น