จำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชม

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์ไทย-บุคคลสำคัญ 



เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)



เจ้า พระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงเสนี) เป็นบุตรคนที่ 4 ของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กำเนิดแต่ท่านผู้หญิงฟักเมื่อปีระกา พ.ศ. 2320 อันเป็นปีที่ 10 ในสมัยของ พระเจ้าตากสินมหาราช สถานที่เกิดอยู่ในเขตพระนคร ตอนเชิงสะพานช้างโรงสี หน้า กระทรวงมหาดไทยทุกวันนี้

เมื่อเติบใหญ่เจริญวัยขึ้น เจ้าพระยาอภัยราชา ผู้เป็นบิดาได้นำตัวนายสิงห์เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรม หลวงอิศรสุนทร และได้รับพระราชทานยศศักดิ์ อันเป็นผลมาจากความเพียรในหน้าที่ราชการในขั้นแรกคือ ตำแหน่ง จมื่นเสมอใจราชและพระนายเสมอใจ ต่อมาได้เป็นพระยาเกษตรรักษาว่าการกรมนาฝ่ายพระราชวังบวรในสมัยรัชกาลที่ 2 ภายหลังเมื่อรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์สมบัติจึงโปรดให้เป็นพระยาราชสุภาวดี

พระยาราชสุภาวดี ได้ทำความดีความชอบไว้มากมายในรัชกาลนี้ เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์คิดการกบฏขึ้นใน พ.ศ. 2369 รัชกาลที่ 3 โปรดให้พระยาราช สุภาวดีเป็นแม่ทัพหน้ายกไปปราบปรามบรรดาพวกกบฏ ท่านได้รบอย่างกล้าหาญจนพวกกบฏมิอาจจะต่อต้านได้ถึงกับถอยร่นไม่เป็นขบวน ในที่สุดทัพของพระยาราชสุภาวดีก็ยกเข้าครองจำปาศักดิ์ได้สำเร็จ ผลแห่งความดีความชอบในครั้งนี้ คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก

เสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกใน พ.ศ. 2372 (เวลานั้นท่านอายุได้ 52 ปี)

ชีวิตของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาดูจะไม่ได้ห่างจากการศึกสงครามไป ได้ เพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา (พ.ศ. 2376) ญวนเกิดเข้าไปแทรกแซงหาทางจะเอาเขมรเป็นของตน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพขึ้นไปสู้รบกับญวนอีก จนกระทั่งญวนยอมทำไมตรีกับไทยแล้ว และเหตุการณ์ในกัมพูชากลับเป็นปกติตามเดิมเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเดิน ทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยใน พ.ศ. 2391 ท่านได้ควบคุมบ้านเมืองในเขมรนานถึง 15 ปีเต็ม

ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ใช้หลักความเฉียบขาดในการบังคับบัญชา จึงได้ผลคือปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์ นครเวียงจันทน์ และได้ช่วยป้องกันเขมรจากญวนได้สำเร็จตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัวนำเกียรติคุณมาสู่ทหารไทยและประเทศไทยอย่างมากมาย

ปีที่กลับจากเขมรมานั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีอายุย่าง 71 ปี แต่ก็ยังเข้มแข็งสามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณได้ต่อมาจนกระทั่งถึงวัน อาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2392 ก็ถึงอสัญกรรมด้วยอหิวาตกโรคซึ่งระบาดชุกชุมในปีนั้น รุ่งขึ้นปี พ.ศ. 2393 จึงได้พระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศ

เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้ทราบว่า เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว องหริรักษ์ระลึกถึงบุญคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ช่วยเหลือปราบปรามหมู่ ปัจจามิตรทั้งช่วยจัดราชการเมืองเขมรให้ราบคาบเรียบร้อยตลอดมา จึงสั่งสร้างเก๋งขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ ใกล้วัดโพธารามในเมืองอุดงมีชัย (เมืองหลวงเก่าเมืองเขมร) แล้วให้พระภิกษุสุกชาวเขมรช่างปั้นฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น ปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์ด้วยปูนเพชร และประกอบการกุศลมีสดับปกรณ์เป็นต้นปีละครั้งที่เก๋ง ชาวเขมรเรียกว่า "รูปองบดินทร" ตลอดมาจนบัดนี้ รูปนี้สร้างขึ้นในราวปีจอ พ.ศ. 2392

จากผลงานและคุณงามความดีที่ปรากฏต่อประเทศชาติ ทำให้อนุชนรุ่นหลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อเคารพสักการะและระลึกถึงพระคุณ ของท่านหลายแห่ง เช่น เมืองอุดงมีชัย ประเทศกัมพูชา, วัดจักรวรรดิราชาธิวาส (วัดสามปลื้ม) , โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) , โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2,โรงเรียนนวมินทราชินูทิศบดินทรเดชา,โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)4,โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี,โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร, ค่ายบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 อ.มะขาม จ.จันทบุรี, ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) , กองกำกับการตำรวจตระเวรชายแดนที่ 12 อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, ค่ายบดินทรเดชา กรมทหารราบที่ 16 อ.เมือง จ.ยโสธร

***ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น