จำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชม

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

สงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

       วันที่ ๓๑ มีนาคม รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งให้เรสิดองปัสตา เป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยนายร้อยเอกโทเรอ และนายร้อยตรีโมโซ และมิงซิเออร์ปรุโซ คุมทหารญวนเมืองไซ่ง่อน ๒๐๐ คน และกำลังเมืองเขมรพนมเปญเป็นอันมากลงเรือ ๓๓ ลำ พร้อมด้วยศัสตราวุธ ยกเป็นกระบวนทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เข้ามาในพระราชอาณาเขต ขับไล่ทหารซึ่งรักษาด่านบงขลา แขวงเมืองเชียงแตง และด่านเสียมโบก ยึดเอาด่านทั้ง ๒ ตำบลได้แล้ว
ครั้นลุรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ วันที่ ๒ เมษายน ฝรั่งเศสก็ยกกระบวนทัพล่วงเข้ามาถึงเมืองเชียงแตง บังคับขับไล่หลวงพิพิธสุนทร (อิน) และนายร้อยโทคร้าม ข้าหลวงกับทหาร ๑๒ คนซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตง ให้ข้ามไปอยู่เมืองธาราบริวัตรฝั่งโขงตะวันตก โดยอ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตะวันออกและเกาะดอนในลำน้ำโขงเป็นเขตแขวงของญวน ซึ่งอยู่ในบำรุงฝรั่งเศส
เวลานั้นข้าหลวงและผู้รักษาเมืองกรมการ ราษฎรเมืองเชียงแตงมิทันรู้ตัว ก็พากันแตกตื่นควบคุมกันมิติด เพราะมิได้คิดเห็นว่าฝรั่งเศสอันเป็นพระราชไมตรีกับประเทศสยามจะเป็นอมิตร ขึ้น ในก่อนที่จะประกาศแสดงขาดทางพระราชไมตรี ฝ่ายข้าหลวงกับพลทหาร ๑๒ คน ก็จำต้องออกจากเมืองเชียงแตง ข้ามมาอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตร ครั้นฝรั่งเศสได้เมืองเชียงแตงแล้ว ก็แต่งนายทัพนายกองคุมทหารแยกย้ายกัน ยกเป็นกระบวนทัพล่วงเข้ามาตั้งอยู่ตามเกาะดอนต่างๆ ณ แก่งลีผี และเดินกระบวนทัพเข้ามาโดยทางบก ตลอดฝั่งโขงตะวันออกจนถึงเมืองหลวงพระบาง
       เวลานั้นพระประชาคดีกิจ (แช่ม) ซึ่งเป็นข้าหลวงหน้าที่หัวเมืองลาวฝ่ายใต้ พักอยู่ ณ เมืองสีทันดร เห็นว่าฝรั่งเศสประพฤติผิดสัญญาทางพระราชไมตรี จึงได้แต่งให้ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาคุมกำลังแยก ย้ายไปตั้งป้องกันกองทัพฝรั่งเศสไว้ แล้วมีหนังสือไปห้ามปรามกองทัพฝรั่งเศสตามทางพระราชไมตรี เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนกองทัพกลีบออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตโดยดี ฝ่ายฝรั่งเศสก็หาฟังไม่ กลับยกกองทัพรุดล่วงเข้ามาเป็นอันดับ และกองทัพฝรั่งเศสกองหนึ่ง มีกำลังทหารพร้อมด้วยศัสตราวุธประมาณ ๔๐๐ คนเศษ ยกมาโดยกระบวนเรือ ๒๖ ลำ เข้าจอด ณ ดอนละงา ขึ้นเดินบกเป็นกระบวนมาบนดอน ขณะนั้นหลวงเทเพนทรเทพ ซึ่งคุมกำลังยกไปตั้งกันอยู่ ณ ดอนนั้น จึงได้ออกไปทักถามนายทหารฝรั่งเศส และได้บอกให้ฝรั่งเศสยกกองทัพกลับออกไปจากพระราชอาณาเขตสยาม ฝรั่งเศสกลับว่าที่ตำบลเหล่านั้นเป็นของฝรั่งเศส ให้หลวงเทเพนทร์ยกกำลังไปเสีย ถ้าไม่ไปจะรบ แล้วฝรั่งเศสก็เป่าแตรเรียกทหารเข้าแถวเตรียมรบ ฝ่ายหลวงเทเพนทร์เห็นว่าห้ามปรามทหารฝรั่งเศสมิฟัง จึงได้ถอนมาตั้งอยู่ ณ ดอนสม และแจ้งข้อราชการยังพระประชา
พระประชาจึงได้เขียนคำโปรเตสสำหรับยื่นกับฝรั่งเศส ลงเรือน้อยไปหาฝรั่งเศส ณ ค่ายดอนสาร ถามได้ความว่า นายทหารฝรั่งซึ่งเป็นแม่ทัพในกองนี้นั้นชื่อ เรสิดองโปลิติก ๑ กอมมันดิงมิลิแตร์ ๑ พระประชาจึงได้แจ้งต่อนายทัพฝรั่งเศสว่า ที่ตำบลเหล่านี้เป็นพระราชอาณาเขตสยาม การซึ่งฝรั่งเศสยกเป็นกระบวนทัพล่วงเข้ามาดังนี้ ผิดด้วยสัญญาทางพระราชไมตรี ขอให้ฝรั่งเศสยกทหารกลับออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขต ฝ่ายนายทัพฝรั่งเศสตอบว่าราชทูตไทยที่ปารีสกับรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ ได้ยอมยกที่ตำบลเหล่านี้และตามลำแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว พระประชาจึงตอบว่า จะตอมเชื่อตามถ้อยคำของฝรั่งเศสที่กล่าวนี้มิได้ เพราะยังมิได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสยาม ขอให้ฝรั่งเศสยกทหารถอยออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตก่อน ฝ่ายฝรั่งเศสก็หายอมเลิกถอนไปไม่ พระประชาจึงยื่นคำโปรเตสไว้ต่อนายทัพฝรั่งเศส แล้วลากลับมา
ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยกกระบวนทัพรุดล่วงเข้ามาเป็นอันดับ และซ้ำระดมยิงเอากองรักษาฝ่ายสยามซึ่งไปตั้งรักษาขึ้นก่อน ถึงกระนั้นกองรักษาฝ่ายสยามก็หาได้ยิงโต้ตอบต่อสู้ไม่ โดยถือว่ากรุงฝรั่งเศสกับประเทศสยาม ยังมิได้ขาดจากสัญญาทางพระราชไมตรีกัน เพราะรัฐบาลสยามยังหาได้มีคำสั่งไปให้ต่อสู้กับฝรั่งเศสประการใดไม่ จึงได้จัดการแต่เพียงให้ตั้งรักษามั่นอยู่ และได้พยายามทุกอย่างที่จะมิให้มีคงวามบาดหมางต่อทางพระราชไมตรี และทั้งได้มีหนังสือห้ามปรามซ้ำไปอีก ข้างฝรั่งเศสก็กลับรบรุกระดมยิงปืนใหญ่น้อยมายังกองรักษาฝ่ายสยามเป็นสามารถ ฝ่ายสยามจึงได้ยิงโต้ตอบไปบ้างแต่เล็กน้อย โดยมิได้เจตนาที่จะทำลายชีวิตผู้คนอย่างใด เป็นแต่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยก็มีปืนบ้างเหมือนกันเท่านั้น
แต่ข้างฝ่ายฝรั่งเศสก็ยิ่งหนุนเนื่องรุกรบเข้ามาทุกที จนเจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามเห็นว่าเหลือกำลังที่จะห้ามปราม และปฏิบัติจัดการโดยดีกับฝรั่งเศสได้แล้ว จึงจำเป็นต้องจัดการออกระดมยิงต่อสู้บ้าง เพื่อรักษาความเป็นอิสรภาพ และทั้งป้องกันชีวิตของประชาชนชายหญิง อันอยู่ในความปกครองไว้ และทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาวุธป่วยตาย และตั้งประชันหน้ากันอยู่
เวลานั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิติปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งประทับอยู่ ณ เมืองอุบล เมื่อได้ทรงทราบว่าฝรั่งเศสแสดงเป็นอมิตรขึ้นดังนั้นแล้ว จึงได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสะเกษ เมืองขุนันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ คน และเมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ คน และให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อีก ๕๐๐ คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพร และเมืองเซลำเภา โปรดให้พลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากหน้าที่เมืองตะโปนไปเป็นข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์ อยู่เมืองขุขันธ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร
และให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท(กอน) นาร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร ๑๐๐ คน และกำลัง ๕๐๐ คน พร้อมด้วยศัสตราวุธ เป็นทัพหน้า รีบยกออกจากเมืองอุบลแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชา ณ เมืองสีทันดร และโปรดให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในลาวกาว เรียกคนพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธ มาเตรียมไว้กับบ้านเมือง เมืองละ ๑๐๐๐ คน แล้วให้ท้าววรกิติกา(ทุย) เพี้ยเมืองซ้าย(เถื่อน) กรมการเมืองอุบล คุมคนเมืองอุบล ๕๐๐ คน พร้อมด้วยศัสตราวุธไปสมบทกองนายสุจินดา
วันที่ ๒๐ เมษายน ฝรั่งเศสชื่อกองซือ กับทหารญวน ๑๙ คน อาวุธครบมือ มาที่เมืองอัตปือ บังคับว่ากล่าวมิให้ผู้ว่าราชการ กรมการ และราษฎรเมืองอัตปือ เชื่อฟังบังคับบัญชาไทย เวลานั้นราชบุตร และนายร้อยพุ่ม ซึ่งรักษาราชการอยู่ ณ เมืองอัตปือจึงขับไล่ฝรั่งเศสและมหาญวนล่องเรือไปจากเมืองอัตปือ
วันที่ ๒๘ เมษายน ฝรั่งเศสคุมทหารประมาณ ๘๐๐ คนยกมาเมืองตะโปน ขับไล่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสยาม ถอยมาอยู่ ณ เมืองพิน
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึงโปรดให้นายร้อยโทเล็ก ๑ ท้าวบุตรวงศา(พั่ว) กรมการเมืองอุบล ๑ คุมคนเมืองอุบล ๕๐๐ คน และคนเมืองสองคอนดอนดง ๕๐๐ เมืองพลาน ๒๐๐ เมืองลำเนาหนองปรือ ๘๐๐ รวมเป็น ๒๐๐๐ คน ไปตั้งรักษาอยู่บ้านตังหวายห้วยค้นแทะใหญ่ ปากดงกระเพาะภูกะไดแก้ว และให้ขุนอาสาสงคราม(สวน)ข้าหลวง ราชบุตรเมืองมหาสาคาม พระพิทักษ์นรากร(อุ่น)ผู้ว่าราชการเมืองวาปีปทุม คุมคน ๑๐๐ คน ไปตั้งรักษาอยู่ ณ ภูด่านแดนด่านแขวงฆ้อง
วันที่ ๒๙ เมษายน โปรดให้ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองยโสธร คุมคนเมืองยโสธร ๕๐๐ และให้อุปฮาด(บัว)เมืองกมลาสัย คุมคนเมืองศรีสะเกษ ๕๐๐ รวมเป็น ๑๐๐๐ คน พร้อมด้วยศัสตราวุธ ยกไปสมทบกองทัพพระประชา นายสุจินดา ณ เมืองสีทันดร และให้พระไชยภักดี ผู้ช่วยเมืองศรีสะเกษ คุมคนเมืองศรีสะเกษ ๕๐๐ พร้อมด้วยศัตราวุธยกไปตั้งรักษาอยู่ ณ ช่องโพย และด่านพระประสบแขวงเมืองขุขันธ์
ฝ่ายทางพระประชา ได้จัดให้หลวงพิพิธสุนทร(อิน) ซึ่งมาแต่เมืองธาราบริวัตร คุมคนไปตั้งรักษาอยู่ท้ายดอนเดช ให้นายสุจินดา และนายร้อยโทพุ่ม ซึ่งมาแต่เมืองอัตปือ คุมคน ๔๐๐ ไปตั้งรับอยู่ ณ ดอนสาคร ให้หลวงเทเพนทรเทพ ขุนศุภมาตรา นายร้อยตรีถมยา คุมคน ๔๐๐ คนไปรักษาท้ายดอนสะดำ และท้ายดอนสาคร ให้เจ้าราชบุตรจำปาศักดิ์ คุมกำลังตามสมควรไปรักษาอยู่ท้ายดอนสม และหัวดอนเดช
ครั้นวันที่ ๕ พฤษภาคม นายสุจินดาล่องเรือถึงหัวดอนสาคร ฝรั่งเศสซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ดอนสาครแลเห็น ให้ทหารระดมปืนใหญ่น้อยออกมาตั้งแต่บ่ายโมง จนถึงบ่าย ๒ โมง

         ฝ่ายหลวงเทเพนทรเทพได้ยินเสียงปืนหนาแน่น จึงแบ่งให้ขุนศุภมาตราไปท้ายดอนสะดำ ส่วนหลวงเทพเนทรเทพกับนายร้อยตรีถมยา แยกเข้าท้ายดอนนางชมด้านตะวันออกดอนสาคร ขึ้นตั้งค่ายประชิดค่ายฝรั่งเศสประมาณ ๑๖ – ๑๗ วา ฝ่ายฝรั่งเศสก็ระดมยิงกราดมาเป็นอันมาก กองทัพไทยเข้าตั้งในวัดบ้านดอนเป็นที่มั่นได้ จึงได้ยิงโต้ตอบฝรั่งเศสบ้าง ก็สงบไป
วันที่ ๖ พฤษภาคม พระประชาไปตรวจค่ายที่ดอนสาคร ขณะนั้นกองทัพฝรั่งเศสยิงปืนมาเป็นอันมา ถูกนายสีพลทหารตายคนหนึ่ง ฝ่ายทัพสยามได้ยิงตอบถูกทหารฝรั่งที่ส่องกล้องอยู่บนหอรบคน ๑ และทหารแตรคน ๑ พลัดตกลงมา ฝรั่งเศสก็สงบยิง
พระประชาจึงได้มีหนังสือห้ามทัพมิให้ยิงปืน และให้ฝรั่งเศสยกกองทัพแกไปให้พ้นพระราชอาณาเขต ให้หญิงชาวบ้านถือไปให้แม่ทัพฝรั่งเศส ณ ค่ายดอนสาคร ฝรั่งเศสก็หาตอบหนังสือไม่ แต่ต่างก็สงบยิงทั้งสองฝ่ายอยู่จนบ่าย ๔ โมง ฝรั่งเศสก็กลับระดมยิงทัพสยามมาอีก ทัพสยามได้ยิงโต้ตอบฝรั่งเศส ถูกทหารฝรั่งเศสพลัดตกจากหอรบอีกคนหนึ่ง ฝรั่งเศสก็ยิ่งระดมยิงกองทัพสยามเป็นอันมาก แต่ฝ่ายสยามหาได้ยิงตอบสักนัดไม่
ในวันนี้ เรือลาดระเวนฝ่ายสยาม ซึ่งอยู่ในบังคับขุนศุภมาตรา จับนายสิง นายสุทาชาวบ้านดอนสาคร ซึ่งฝรั่งเศสใช้ให้ถือหนังสือจะไปส่งให้ฝรั่งเศส ณ เมืองเชียงแตง เพื่อให้ส่งกองทัพเพิ่มเติมมานั้น ได้ถามให้การรับ พระประชาได้พร้อมด้วยนายทัพนายกองปรึกษาโทษ เอาตัวนายสิง นายสุทา ประหารชีวิตตามบทพระอัยการศึก
และในวันนั้น กัปตันโทเรอนายทหารฝรั่งเศส คุมเรื่องเสบียงอาหารจะมาส่งยังกองทัพฝรั่งเศส ณ แก่งลีผี พอมาถึงหางดอนสะดำ พบเรือลาดตระเวนฝ่ายสยาม ฝ่ายสยามได้ห้ามปรามให้หยุด เรือกัปตันโทเรอหาหยุดไม่ มิหนำซ้ำกลับยิงเอาเรือลาดตระเวนฝ่ายสยาม ฝ่ายสยามได้ออกสกัดยิงตอบเรือกัปตันโทเรอถอยกลับลงไป ขุนศุภมาตราจึงได้ให้เรือลาดตระเวนไล่ตามไป ฝ่ายกองทัพราชวงศ์ ราชบุตรเมืองสพังภูผา และกองพระภักดีภุมเรศ พระวิเศษรักษา ซึ่งตั้งรักษาอยู่ ณ บ้านพละคัน ก็ลงเรือช่วยกันตามจับ ได้กัปตันโทเรอ และนายตี๋ล่าม ๑ ทหารญวน ๓ คน ลาวเมืองเชียงแตง ๑๓ คน ส่งไปยังพระประชา พระประชาได้ส่งมายังเมืองอุบล ส่วนกองทัพสยามและฝรั่งเศสก็ตั้งประชิดกันอยู่โดยกำลังสามารถ ณ ดอนสาคร
ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศส ณ เมืองตะโปน ก็ยกกองทัพเข้ามาทางเมืองนอง จับหลวงบริรักษ์รัษฎากร นายบรรหารภูมิสถิต และหลวงสำแดงฤทธิ์เจ้าหน้าที่รักษาฝ่ายสยามอันมิได้ต่อรบนั้นได้
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึงได้ให้หลวงพิทักษ์สุเทพ(รอด) ท้าวไชยกุมาร(กุคำ) คุมคนเมืองยโสธร ๕๐๐ ไปตั้งอยู่ ณ เมืองเขมราษฎร์ และให้จัดนายกองคุมคนไปช่วยนายร้อยโทเล็ก ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสเมืองนองก็ยกกองทัพรีบรุดล่วงเข้ามาทางเมืองพิน เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองสองคอนดอนดง ส่วนกองนายร้อยโทโทเล็ก และท้าวบุตรวงศา ราชบุตรวาปี ต้องล่าหนีข้ามโขมมา
ฝรั่งเศสก็เดินกองทัพมาจนถึงฝั่งโขงโดยรวดเร็ว แล้วก็เลิกทัพกลับไป แล้วฝรั่งเศสได้ปล่อยหลวงบริรักษ์รัษฎากร มาพร้อมกับหลวงมลโยธานุโยค ข้าหลวงเมืองเชียงฮม ซึ่งฝรั่งเศสจับได้ไว้ทางมณฑลลาวพวน แต่ส่วนนายบรรหารภูมิสถิตย์นั้น ฝรั่งเศสส่งไปเมืองกวางตี้ แต่ภายหลังก็ได้ปล่อยกลับมา

กองทหารไทยในศึกฝรั่งเศส 

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้อุปฮาด(อำคา)เมืองสุวรรณภูมิ ๑ พระศรีเกษตราธิชัย(ศิลา)ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิสัย ๑ คุมคนเมืองสุวรรณภูมิ ๕๐๐ และให้พระสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการเมืองโกสุม ๑ หลวงจำนงวิชัย ผู้ช่วยเมืองร้อยเอ็ด ๑ คุมคนมหาสารคาม และร้อยเอ็ด ๓๐๐ รวม ๘๐๐ ยกออกจากเมืองอุบลไปช่วยพระประชา ณ ค่ายดอนสาคร
และให้นายร้อยตรีหุ่น ๑ คุมคนเมืองจตุรพักตร ๑๐๕ เมืองร้อยเอ็ด ๒๑๐ เมืองมหาสารคาม ๒๑๐ รวม ๕๒๕ คน ยกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพร และธาราบริวัตร และด่านลำจาก เปลี่ยนเอาพระศรีพิทักษ์(หว่าง) กลับมาตั้งรักษาอยู่ ณ ช่องโพย และให้นายร้อยตรีวาด ไปเรียกคนเมืองขุขันธ์อีก ๕๐๐ คน สำหรับส่งไปเพิ่มเติมยังกองพระศรีพิทักษ์(หว่าง) และให้ขุนไผทไทยพิทักษ์(เกลื่อน) ข้าหลวงเมืองศรีสะเกษ เป็นหน้าที่ส่งเสบียงไปยังกองพระศรีพิทักษ์
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม หลวงเสนานนท์ ๑ หลวงอนุรักภักดี(พุด) ๑ หลวงวิจารณ์ภักดี ๑ พระสิทธิศักดิ์สมุทรเขต(บุษย์) ๑ หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม) ๑ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุมเครื่องศัสตราวุธ ไดไปถึงเมืองอุบล
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ฝรั่งเศสคุมกองทัพเพิ่มเติมยกมาถึงบ้านพละคันอีกประมาณพันเศษ พระประชาเห็นศึกเหลือกำลังกล้า จึงให้เลิกค่ายท้ายดอนไปรวมตั้งรับที่ดอนสะดำ และเลิกค่ายหัวดอนคอนไปรวมตั้งรับ ณ ค่ายดอนเดช ดอนสม และในวันนี้เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ กองทัพฝรั่งเศสยกขึ้นมาตั้งที่บ้านเวินยางฝั่งตะวันตก ตรงค่ายกองทัพสยามที่ดอนสะดำ และฝรั่งเศสระดมปืนใหญ่น้อย และกระสุนแตกมาที่ค่ายสยาม ณ ดอนสะดำเป็นอันมาก หลวงเทเพนทรเทพ นายร้อยตรีถมยา เห็นจะตั้งรับอยู่ที่ดอนสะดำมิได้ จึงได้ล่าถอยมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ ดอนโสม
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ฝรั่งเศสยกกองทัพมาขึ้นท่าสนามท้ายดอนคอน ครั้นบ่าย ๔ โมง ฝรั่งเศสยกมาตีค่ายสยามหัวดอนคอน หลวงอภัยเมืองสีทันดร และท้าววรกิติกา(ทุย)กรมการเมืองอุบล ซึ่งพระณรงค์วิชิต(เลื่อน)ให้เป็นนายกองอยู่ ณ ค่ายหัวดอนคอน ต้านทานกองทัพฝรั่งเศสมิหยุด จึงยกล่าถอยข้ามมาดอนเดช ฝรั่งเศสตามจับหลวงอภัยได้ ฝ่ายค่ายสยามที่ดอนเดชได้ยิงต่อสู้กองทัพฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็ระดมยิงมาที่ค่ายดอนเดชเป็นสามารถ พลสยามที่ดอนเดชทานกำลังลูกแตกมิได้ ก็ล่าถอยมาตั้งรับอยู่ ณ ค่ายดอนสม พอเวลาพลบค่ำ กองทัพฝรั่งเศสก็เลิกไปค่าย
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พระณรงค์วิชิต(เลื่อน)ได้ให้กำลังไปรักษาค่ายที่ดอนเดชไว้ตามเดิม และแต่งกองซุ่มไปอยู่ดอนตาล ดอนสะดำ คอยตีตัดมิให้ฝรั่งเศสเวียนเดินเรือเข้ามาในช่องได้ และเพี้ยศรีมหาเทพนครจำปาศักดิ์พาพล ๑๙ คนหนี อุปฮาด(บัว)เมืองกมลาสัย ซึ่งตั้งค่ายอยู่ตำบลชลเวียงจับได้ พระประชา(แช่ม)ได้ปรึกษาโทษให้ประหารชีวิตตามบทพระอัยการศึก ฝ่ายนายทัพนายกองได้ขอชีวิตไว้ พระประชา(แช่ม)จึงได้ให้ทำโทษเฆี่ยนเพี้ยศรีมหาเทพ ๙๐ ที พวกพลคนละ ๓๐ ที
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ฝรั่งเศสยกกองทัพขึ้นตั้งดอนเดชประชิดค่ายสยาม แล้วระดมยิงกระสุนแตกมาที่ค่ายสยามเป็นอันมาก ฝ่ายกองทัพสยามมิได้ยิงตอบ ครั้นฝรั่งเศสยกกองทหารรุกเข้ามาใกล้ ฝ่ายสยามจึงได้ระดมยิงกองทัพฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสถูกกระสุนปืนล้มตายหลายคน แตกถอยกลับไป ฝ่ายสยามถูกกระสุนปืนเจ็บป่วย ๓ คน ในวันนี้พระประชา(แช่ม)ได้จัดให้นายทัพนายกองคุมกำลังไปตั้งค่ายรับที่ดอนสม อีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนี้ฝ่ายฝรั่งเศส และสยามต่างก็ตั้งมั่นรักษาอยู่

กองทหารไทยเข้าสู่สมรภูมิในสมัยศึกฝรั่งเศสคงไม่ต่างจากภาพนี้เท่าไร
ในภาพเป็นการซ้อมรบกับปืน ร.ศ. ครั้งแรก 

        ในเดือนนี้ฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศส และสยามได้ปรึกษาตกลงกันเลิกสงคราม และฝ่ายสยามได้เรียกให้กองทัพทุกๆ กองกลับ และได้ตกลงสัญญากันเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม
(เหตุตามรายวัน) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรมีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอราชวงศ์สีทันดร และท้าวสิทธิสารเมืองมูลปาโมกข์ ซึ่งคุมช้างเผือกลงมา ณ กรุงเทพฯ เป็นผู้ว่าราชการเมืองสีทันดร และเมืองมูลปาโมกข์
วันที่ ๕ เมษายน ๑๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ราชวงศ์เมืองสีทันดร เป็นพระอภัยราชวงศา ผู้ว่าราชการเมืองสีทัน พระราชทานครอบเงินกลีบบัวถมดำเครื่องในพร้อมสำรับ ๑ ลูกประคำร้อยแปดเม็ดสาย ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑ แพรขวาห่มเพลาะ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ และพระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสิทธิสาร เป็นพระวงศาสุรเดช ผู้ว่าราชการเมืองมูลปาโมกข์ ขึ้นเมืองสีทันดร พระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์
วันที่ ๒๓ เมษายน พระยาราชเสนา(ทัด) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเป็นพระยาศรีสิงหเทพ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า และพานทองคำเครื่องพร้อม ๑ คนโททองคำ ๑
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พระศรีพิทักษ์(หว่าง) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระราชวรินทร์
วันที่ ๑ มิถุนายน นายสุจินดา(เลื่อน) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเป็นพระณรงค์วิชิต
วันที่ ๒ มิถุนายน กรมหลวงวิชิตปรีชากรโปรดให้พระสิทธิศักดิ์สมุทรเขต(บุษย์) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ให้หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองกมลาสัย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ ณ เมืองกาฬสินธุ์ ให้พระสุจริตรัฐการี(ทำมา) กรมการเมืองอุบล ไปเป็นข้าหลวงประจำเมืองร้อยเอ็ด ให้พระดุษฎีตุลกิจ(สง) ข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ ไปช่วยพระสิทธิศักดิ์อยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ถอนนายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองมหาสารคาม มาอยู่เมืองสุวรรณภูมิ
วันที่ ๑๕ มิถุนายน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรได้โปรดให้นายร้อยตรีพึ่ง กับพลทหาร ๑๒ คน คุมกัปตันโทเรอ นายตี๋ล่าม และทหารญวน ๓ คน ออกจากอุบลมาส่งกรุงเทพฯ และได้ทรงจ่ายเงิน ๓๒๕ บาท ๕๐ อัฐ ให้เป็นเงินเดือนแก่กัปตันโทเรอ และล่าม และทหารญวนด้วย พวกนี้ปล่อยที่ชายแดน ไม่ได้ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ
ในระหว่างเดือนนี้ พระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองธาราบริวัตได้อพยพครอบครัวหนีไปอยู่ ณ ดอนสาย มิสเตอร์วิลเลี่ยม ซึ่งกรมไปรษณีย์ได้ให้ไปจัดการไปรษณีย์มณฑลลาวกาวได้ไปเปิดการส่งไปรษณีย์ ณ เมืองอุบลในเดือนนี้
วันที่ ๒ กรกฎาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ ๑ และเหรียญดุษฎีมาลา ๑ พระยาภักดีณรงค์(สิน) และพระราชวรินทร์(หว่าง) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์
วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พระภักดีณรงค์(สิน) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระยาภักดีณรงค์ พระประชาคดีกิจ(แช่ม) เป็นพระยาประชากิจกรจักร วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้นายร้อยตรีเกิด ไปเป็นข้าหลวงช่วยหลวงธนสารสุทธารักษ์(หว่าง) ณ เมืองสุรินทร์
วันที่ ๒๖ กรกฎาคม โปรดให้จ่าการประกอบกิจ ไปเป็นข้าหลวงช่วยหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม) อยู่ที่เมืองกาฬสินธุ์
วันที่ ๗ สิงหาคม โปรดให้พระยาศรีสหเทพ(ทัด) ออกจากอุบล นำข้อราชการไปทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ณ เมืองนครราชสีมา และโปรดให้หลวงธนะผลพิทักษ์(ดิศ) ๑ ขุนชาญรณฤทธิ์(ชม) ๑ ข้าหลวงนครราชสีมามารับราชการมณฑลลาวกาว
วันที่ ๑๔ สิงหาคม โปรดให้นายเพิ่มพนักงานแผนที่ไปตรวจทำแผนที่ตั้งแต่เมืองชานุมานมณฑล ไปโขงเจียงปากมูล และตามสันเขาบรรทัด จนถึงช่องโพยแขวงเมืองขุขันธ์
วันที่ ๓ กันยายน นายร้อยโทพุ่มได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยเอกขุนโหมหักปัจนึก นายร้อยตรีถมยา เป็นนายร้อยเอกขุนอธึกยุทธกรรม
        วันที่ ๑๔ ตุลาคม นายร้อยตรีเชิด เป็นลมชิวหาสดมภ์ถึงแก่กรรม หลวงจักรพาฬภูมิพินิจ(ใหญ่) พนักงานแผนที่มณฑลลาวกลาง มารับราชการมณฑลลาวกาว วันที่ ๒๕ ตุลาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระณรงวิชิต(เลื่อน) เป็นข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองกาฬสินธุ์ กมลาสัย ภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม และให้หลวงธนะผลพิทักษ์(ดิศ) ขุนชาญรณฤทธิ์(ชม) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาสัย เมืองภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ ณ เมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยจ่าการประกอบกิจ หมื่นวิชิตเสนา ถอนหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม) ไปเป็นข้าหลวงอยู่ ณ เมืองสุรินทร์
วันที่ ๔ พฤศจิกายน โปรดให้ขุนอาสาสงคราม(สวน) ไปเป็นข้าหลวงช่วยนายร้อยตรีพรหมอยู่ ณ เมืองสุวรรณภูมิ
วันที่ ๖ พฤศจิกายน พระชาตสุเรนทร์ ๑ จมื่นอินทรเสนา ๑ จ่าแล่นประจญผลาญ ๑ ออกจากอุบลกลับกรุงเทพฯ
วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน มองซิเออร์มอง มองซิเออร์ลูเว มองซิเออร์ลูเย นำเรือกลไฟจักรท้าย ๒ สกรู ชื่อมาซี ปากกว้าง ๖ ศอกเศษ ยาว ๑๑ วาเศษ กินน้ำลึกศอกเศษลำหนึ่ง และเรือกลไฟชื่อฮำรอง ปากกว้างวาเศษ ยาว ๘ วาลำหนึ่ง มาที่บ้านด่านปากมูล และเรือชื่อมาซีมาเที่ยวที่แก่งตนะลำน้ำมูล แล้วกลับไป
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน จ่าฤทธิพิไชย ออกจากอุบลกลับกรุงเทพฯ ในเดือนนี้นายฉัตรซึ่งกรมโทรเลขให้ออกไปจัดการโทรเลข ได้ไปถึงเมืองอุบล 
วันที่ ๒ ธันวาคม มิงซิเออร์มอง มองซิเออร์ลูเว นำเรือกลไฟมาซี และฮำรอง ไปแวะที่นครจำปาศักดิ์ ขึ้นหาขุนวิชิตชลหาร(ต่อ) ภายหลังเป็นหลวงพลอาศัย ข้าหลวงแจ้งว่าจะมาเยี่ยมเจ้านครจำปาศักดิ์ ครั้นรุ่งขึ้นวันหลัง มองซิเออร์มองและมองซิเออร์ลูเว ได้ไปหาเจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ พูดจาโดยอ่อนหวานต่างๆ และว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะยอมให้เจ้านครจำปาศักดิ์ มีอำนาจบังคับบัญชาตลอดถึงฝั่งโขงตะวันออก เจ้านครจำปาศักดิ์ตอบว่า ฝั่งโขงตะวันออกตกเป็นของฝรั่งเศส ส่วนเจ้านครจำปาศักดิ์เป็นข้าสยาม จะยอมรับบังคับมิได้ แล้วมองซิเออร์มอง มองซิเออร์ลูเว ก็ลากลับไป
วันที่ ๓ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้ข้าหลวงภักดีนุชิต เป็นพระสุนทรบริรักษ์ ว่าที่ผู้ช่วยเมืองสุรินทร์ และให้ขุนจงราชกิจ ไปเป็นข้าหลวงเมืองร้อยเอ็ด วันนี้ พระไชยณรงค์ภักดี(จัน) ปลัดผู้รักษาเมืองสุรินทร์เป็นไข้พิษถึงแก่กรรม
วันที่ ๙ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกลาง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวกาว เปลี่ยนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรนั้น พร้อมด้วยพระอนุรักษ์โยธา(นุช) ๑ หลวงจัตุรงค์โยธา ๑ หลวงพิไชยชำนาญ ๑ หม่อมราชวงศ์ปฐมเลขา ๑ ขุนเวชวิสิฐ(นิ่ม)แพทย์ ๑ ขุนพิไชยชาญยุทธ ๑ นายร้อยโทสอนทำการพลเรือน ๑ นายเลื่อนมหาดเล็ก ๑ นายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ร้าย ๑ นายร้อยโทพลัด ๑ ไปถึงเมืองอุบล

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
วันที่ ๑๐ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ให้ประชุมข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ฟังกระแสตราพระราชสีห์ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มอบหน้าที่ราชการมณฑลลาวกาว ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ และได้ทรงมอบหน้าที่ราชการถวายกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ในวันนั้น
วันที่ ๑๑ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จออกจากเมืองอุบล พร้อมด้วยพระราชวรินทร์(หว่าง) ๑ จมื่นศักดิบริบาล ๑ นายร้อยเอกหลวงพิทักษ์นรินทร์(กอน) ๑ นายร้อยเอกขุนโหมหักปัจนึก(พุ่ม) ๑ นายร้อยเอกขุนอธึกยุทธกรรม(ถมยา) ๑ นายร้อยตรีโชติ ๑ นายร้อนตรีคล้าย ๑ นายร้อยตรีผล ๑ กลับกรุงเทพฯ โดยทางช่องตะโก และมณฑลปราจีน
วันที่ ๑๙ ธันวาคม นายร้อยตรีเราซิง ๑ หลวงจัตุรงค์โยธา ๑ หลวงพิไชยชำนาญ ๑ จาสสรวิชิต ๑ นายเลื่อนมหาดเล็ก ๑ ออกจากอุบลกลับกรุงเทพฯ
วันที่ ๓๐ ธันวาคม พระณรงวิชิต(เลื่อน) ออกจากอุบลกลับกรุงเทพฯ
อนึ่ง เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเสด็จกลับกรุงเทพฯ ถึงบ้านเพี้ยราม แขวงเมืองสุรินทร์นั้น ได้โปรดให้พระพิไชยนครบวรวุฒิ(จรัญ) ยกกระบัตรเมืองสุรินทร์ เป็นผู้ครองเมืองสุรินทร์
วันที่ ๑๑ มกราคม เป็นวันแรกที่สายโทรเลขเมืองอุบลและระหว่างเมืองขุขันธ์ ใช้การได้จนตลอดถึงกรุงเทพฯ
วันที่ ๒๒ มกราคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ๑ และช้างเผือกสยามชั้นที่ ๑ มหาวราภรณ์ ๑
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ โปรดให้นายร้อยโทสอนไปเป็นข้าหลวงอยู่เมืองยโสธร และให้อุปฮาดรับราชการตำแหน่งผู้รักษาเมือง ให้ราชบุตรรับราชการตำแหน่งอุปฮาด ให้หลวงศรีวรราชผู้ช่วยพิเศษ รับราชการตำแหน่งราชบุตรเมืองยโสธร
ในปีนี้ ขุนเทพคชกิรินีหมอ นายเอาะควาญ บ้านดงมันเมืองสุวรรณภูมิ คล้องได้ช้างพังสำคัญสูง ๓ ศอก ๖ นิ้วช้าง ๑ ได้โปรดให้ส่งมาเลี้ยงรักษาไว้ ณ เมืองอุบล เพื่อได้ส่งกรุงเทพฯ ต่อไป ช้างนี้เป็นช้างเผือกโทส่งมาถึงเมืองนครราชสีมาแล้วเอาขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ สมโภชโรงในขึ้นระวางเป็น พระศรีเศวตวรรณิกา


ที่มา: http://www.baanjomyut.com/library/war_between_france/index.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น