จำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชม

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเมืองไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง(3)

การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 3





ยุคที่สาม ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (พ.ศ.2516 – พ.ศ.2519)

        14 ตุลาคม 2516 เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองยุคใหม่ของไทยที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการลุกฮือของประชาชนเป็นจำนวนแสน ๆ คน เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร อาจจะถือได้ว่าการลุกฮือดังกล่าวเป็นการเปิดประวัติศาสตร์บทใหม่ทางการเมืองไทยในยุคหลังการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์เจาะลึกแล้วจะเห็นว่า 14 ตุลาคม 2516 หรือที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า การปฏิวัติ” 14ตุลาคม 2516 เป็นผลที่จะต้องเกิดขึ้นเพราะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและระบบการเมืองยุคพ่อขุน
สาเหตุของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีหลายองค์ประกอบซึ่งมีทั้งสาเหตุที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างและตัวแปรเฉพาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง ซึ่งถ้าจะแยกออกก็จะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ คือ
1. ในแง่ของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองนั้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจและขึ้นเป็นรัฐบาลในปี พ.ศ.2501 นั้น จอมพลสฤษดิ์ ใช้การปกครองระบบพ่อขุน ซึ่งได้แก่ การใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครองโดยการล้มสถาบันและกลไกการเมืองแบบมีส่วนร่วม เท่ากับเป็นการแช่เย็นการเมือง ขณะเดียวกันก็เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการกลับไปสู่ระบบการเมืองการปกครองแบบโบราณในลักษณะที่เน้นการปกครองบริหารดูแลประชาชนให้อยู่ดีกินดี แบบพ่อปกครองลูก โดยผู้อยู่ใต้ปกครองไม่ต้องมีส่วนรู้เห็น การมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่พัฒนาสถาบันให้คนมีส่วนร่วมนั้น ย่อมนำไปสู่ปัญหาข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นลักษณะธรรมดาของโลก คือการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม ย่อมไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่ทุกคนจะได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน เช่น การแบ่งสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมจะมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศนั้นย่อมจะนำไปสู่การเรียกร้องใหม่ ๆ การที่จอมพลถนอมได้ทำการรัฐประหารตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 และกลับไปสู่การเมืองแบบสฤษดิ์อีก เห็นได้ชัดว่าเกิดการเสียดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกับการพัฒนาการเมืองซึ่งได้แก่ สถาบันการเมืองซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อมีสิทธิในการตัดสินนโยบายหรือหาข้อยุติในข้อขัดแย้ง
การเสียดุลดังกล่าวระหว่างการพัฒนาการเมืองกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัญหาโครงสร้างซึ่งนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
2. ระบบการปกครองแบบพ่อขุนของสฤษดิ์นั้น จะต้องอาศัยบุคลิกภาพของคนที่มีอำนาจ ซึ่งต้องสามารถสร้างความนับถือ เกรงกลัวในหมู่ผู้นำทางการเมือง นอกจากบุคลิกของคนมีอำนาจแล้วยังต้องสามารถควบคุมอำนาจทางการเมือง ซึ่งในกรณีของไทยนั้นอำนาจทางการเมืองก็คือการมีอำนาจทหาร ซึ่งจอมพลสฤษดิ์มีคุณสมบัติต่าง ๆ ครบถ้วน คือ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งทั้งสามตำแหน่งนี้เป็นจุดรวมของอำนาจสูงสุดของประเทศไทย ดังนั้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ออกมาจากสามตำแหน่งอันทรงอำนาจดังกล่าว ส่วนประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของระบบพ่อขุน คือ อำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะระบบพ่อขุนนั้น ความจริง คือระบบอุปถัมภ์ ซึ่งจำต้องมีการสนับสนุนจากผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ ขณะเดียวกันพ่อขุนต้องสามารถใช้พระคุณและพระเดช การใช้พระคุณนั้น นอกจากการให้ตำแหน่งแล้ว ยังต้องมีการให้รางวัลเป็นเงินตราและสิ่งของเป็นครั้งคราว เพื่อผูกใจผู้อยู่ใต้สนับสนุน ด้วยเหตุนี้การมีฐานะเศรษฐกิจที่แข็งจึงเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำทางการเมืองไทย วิธีหาฐานทางเศรษฐกิจ ก็โดยการลงทุนกับกลุ่มธุรกิจ ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการบริหาร ทั้งนี้เพราะนักธุรกิจเองก็อยากอาศัยบารมีของผู้นำทางการเมืองเพื่อการ คุ้มครองและเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ นอกจากวิธีการนี้แล้ว ผู้นำทางการเมืองอาจอาศัยความช่วยเหลือ เช่น ช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา งบประมาณลับทางทหารรวมทั้งรายได้จากกิจกรรมผิดกฎหมายด้วย เช่น การค้ายาเสพย์ติด ฯลฯ เพื่อสร้างฐานะอำนาจทางการเงินอันจะเสริมอำนาจทางการเมืองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จนแทบจะกล่าวได้ว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการกระทำอันมิชอบต่าง ๆ เป็นผลมาจากระบบการเมืองการปกครอง ในขณะที่ระบบพ่อขุนต้องอาศัยบุคลิกอันมีอำนาจ การคุมอำนาจทางการเงินและฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นำในระบบพ่อขุนมีอำนาจอยู่เพียงคนเดียว ในระบบดังกล่าวยังมีพ่อขุนน้อย ซึ่งได้แก่ นายทหารชั้นสูงจำนวนไม่น้อยร่วมมือกับพ่อขุน หรือถูกอำนาจของพ่อขุนข่มอยู่โดยที่จอมพลสฤษดิ์ สามารถขจัดกลุ่มแข่งขันที่สำคัญ คือกลุ่มราชครู (เพราะบ้านผู้นำสำคัญตั้งอยู่ในซอยราชครู) ซึ่งประกอบด้วยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ทำให้สามารถคุมกติกาต่าง ๆ ได้ แต่จุดอ่อนอันสำคัญยิ่งของพ่อขุน คือ การพึ่งตัวบุคคลมากกว่าสถาบัน ดังนั้นเมื่อพ่อขุนอย่างสฤษดิ์ผ่านไปจากฉากการเมือง ปัญหาการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างพ่อขุนน้อยทั้งหลายก็จะอุบัติขึ้น และนี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ.2506
3. เมื่อสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ยอดพีระมิด ก็ถูกแทนที่โดยกลุ่มของจอมพลถนอม และจอมพลประภาส ซึ่งทุกอย่างก็ดูเรียบร้อยดี แต่ในไม่ช้าปัญหาความโต้แย้งก็เริ่มปรากฏให้เห็น ทั้งนี้เพราะระบบพ่อขุนแบบสฤษดิ์นั้นความจริงก็คือระบบอุปถัมภ์แต่ออกมาในรูปใหม่ ระบบดังกล่าวนี้จะมีผู้อุปถัมภ์ซึ่งได้แก่ นายทหารชั้นผู้ใหญ่คือนายพลจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ที่ให้ความอุปถัมภ์ต่อนายทหารชั้นผู้น้อย นักการเมืองและนักธุรกิจ ดังนั้นปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งจะเป็นข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร นักธุรกิจหรือนักการเมืองก็ตามจะอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้ให้ความอุปถัมภ์จะให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือหรือคุ้มครอง ส่วนผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ก็จะให้ความสนับสนุนเป็นการตอบแทน หรือถ้าในกรณีผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ที่เป็นธุรกิจจึงได้รับความคุ้มกันทางการเมือง ผลประโยชน์ในแง่อภิสิทธิ์ หรือบางครั้งการหลบเลี่ยงกฎหมายก็จะตอบแทนผู้ให้ความอุปถัมภ์ในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ยิ่งทำให้เห็นเด่นชัดว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากลักษณะโครงสร้างของระบบ ในขณะที่สฤษดิ์ยังอยู่ในอำนาจและบุคลิกอันแข็งแกร่ง ฉายรัศมีของอำนาจควบคุมกลุ่มผู้อุปถัมภ์ต่าง ๆ นำโดยพ่อขุนน้อย ซึ่งจัดตั้งระบบมาเฟียให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ทันทีที่สูญสิ้นผู้นำไป กลุ่มผู้นำระดับรองก็เริ่มขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และนี่คือสภาพหลังการถึงแก่อสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ เพื่อที่จะประกันและรักษาผลประโยชน์และอำนาจของตนกลุ่มถนอม – ประภาส พยายามที่จะเลียนแบบจอมพลสฤษดิ์ เพื่อรักษาระบบพ่อขุนให้เหมือนเดิมแต่เป็นไปได้ยากเพราะเหตุผลสองประการ คือ ประการแรก ทั้งจอมพล ถนอมและจอมพล ประภาสต่างก็ไม่มีบารมีเท่าจอมพล สฤษดิ์ และประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนาประเทศของพ่อขุนสฤษดิ์และสืบทอดโดยกลุ่มถนอม – ประภาส นั้นได้นำไปสู่สภาพแวดล้อมอันซับซ้อนเกินกว่าที่ระบบพ่อขุนจะรับได้
4. การขึ้นมามีอำนาจของพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งเป็นบุตรชายของจอมพลถนอม และบุตรเขยของจอมพลประภาส และพฤติกรรมของพันเอก ณรงค์ ในฐานะรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) เป็นตัวแปรที่เสริมสถานการณ์ในทางเลวร้าย ก.ต.ป. เป็นหน่วยงานที่คอยตรวจตราการปฏิบัติการของราชการซึ่งมีอำนาจมากมาย พันเอกณรงค์ได้ใช้อำนาจในฐานะรองเลขาธิการอย่างเต็มที่ สั่งจับนักธุรกิจที่ค้าของหนีภาษีและสั่งสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง มีข่าวลือว่าแม้ข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ถูกสอบสวนโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นอย่างมาก และที่สำคัญคือ สภาพการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ดุลยภาพของสายใยของการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งได้มีการแบ่งสรรเขตอิทธิพลกันอย่างเรียบร้อยของกลุ่มผู้ให้ความอุปถัมภ์ ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้วด้วยการครองอำนาจของกลุ่มถนอม – ประภาสต้องถูกกระทบกระเทือนถึงฐานรากเพราะการกระทำของหน่วยงาน ก.ต.ป. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมสามารถตีความได้โดยเด่นชัด การจับนักธุรกิจซึ่งอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของข้าราชการทหารผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งให้ความคุ้มครองอยู่ก็เท่ากับเป็นการตบหน้าผู้ให้ความอุปถัมภ์ผู้นั้น การสอบสวนข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่ ก็เท่ากับทำให้เสียหน้าและท้าทายหรือทำลายบารมีของผู้นั้น ถ้าสภาวการณ์ดังกล่าวถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไป อำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ก็จะคลายลงและอาจสูญเสียจำนวนผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ในที่สุด พฤติกรรมของพันเอก ณรงค์และกิจกรรมของ ก.ต.ป. เป็นการคุมคามต่ออำนาจของผู้อุปถัมภ์อื่น ๆ และเป็นการเขย่าระบบอุปถัมภ์ที่เป็นอยู่ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ระบบพ่อขุนแบบสฤษดิ์ได้ถูกทำให้สั่นคลอนด้วยสภาพการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น
5. 
พฤติกรรมของพันเอกณรงค์และกิจกรรมของ ก.ต.ป. เป็นเหตุของความไม่พอใจและเป็นอันตรายต่อดุลยภาพของระบบพ่อขุนแบบสฤษดิ์ นับว่าเป็นปรากฏการณ์ในทางลบอย่างมาก แต่การพยายามวางตัวผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง ซึ่งดูจากพฤติกรรมต่าง ๆ ดูเหมือนว่าได้มีแผนที่จะให้พันเอกณรงค์สืบทอดอำนาจจากจอมพลถนอมและจอมพลประภาส เป็นการเขย่าขวัญและกำลังใจของทหารอาชีพจำนวนมาก การเมืองไทยยุคใหม่ไม่ค่อยมีการสืบทอดอำนาจจากพ่อไปหาลูก ซึ่งต่างจากสมัยปลายสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ มีการสืบทอดอำนาจในครอบครัวหรือตระกูลเดียวกันหลายชั่วคน เช่น ตระกูลบุนนาค เป็นต้น ในสมัยใหม่นี้สายโลหิตของจอมพลแปลก และจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองที่เห็นเด่นชัด ในกรณีของพันเอกณรงค์นั้นดูประหนึ่งว่าจะมีการตระเตรียมให้ไต่เต้าขึ้นไปสืบทอดอำนาจทางการเมืองซึ่งมีฐานหนุนจากพ่อและพ่อตา พันเอกณรงค์ได้เลื่อนยศขึ้นอย่างรวดเร็วจนยศพลตรีอยู่แค่เอื้อม สภาพดังกล่าวย่อมทำให้ทหารบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะถ้าพันเอกณรงค์ได้สืบทอดอำนาจตามที่เกรงกัน ก็ย่อมมีผลกระทบต่ออนาคตและอาชีพของพวกทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของกลุ่มอื่น แม้การเล่นพวกเล่นพ้องจะเป็นลักษณะไม่แปลกในระบบราชการไทย แต่ในกรณีที่เห็นเด่นชัดนี้ประกอบกับความอิจฉา การขาดความเชื่อมั่น ความไม่พอใจ และการคาดการณ์ถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอาชีพของตน ทำให้กลุ่มอุปถัมภ์อื่นสรุปว่า กลุ่มถนอม – ประภาส - ณรงค์ต้องถูกกำจัดไปให้พ้นจากวงการเพื่อผลประโยชน์และการอยู่รอดของตน
6. ในช่วงระยะเวลาวิกฤตนี้ปัญหาเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาล ได้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองอันสำคัญ ในระบบการเมืองไทยนั้นโดยทั่วไปแล้ว ความชอบธรรมไม่ค่อยสำคัญเท่ากับการที่บุคคลผู้นั้นทำประโยชน์ให้กับประชาชนหรือประเทศชาติหรือไม่ ตามจารีตนิยม ระบบการเมืองการปกครองไทยมีหน้าที่ใหญ่ ๆ คือ การประกอบพิธีต่าง ๆ การรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันการรุกรานจากภายนอก ในอดีตนั้น การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจทางการเมือง หรือการแย่งราชบัลลังก์สมัยปลายอยุธยานั้น เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่ไม่น้อย และการใช้อำนาจทหารเข้ายึดอำนาจการเมืองก็ได้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการยึดอำนาจการเมืองโดยกำลังทหาร จึงไม่ได้เป็นของแปลกใหม่ แต่จุดสนใจอยู่ที่การมีความสามารถที่จะทำประโยชน์อะไรแก่ประเทศชาติและประชาชน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาต่อความชอบธรรมของรัฐบาลมากที่สุดในขณะนั้นคือ การขาดแคลนข้าวสาร จนถึงกับต้องปันส่วนด้วยการเข้าแถวยาวเหยียดพร้อมกับสำมะโนครัวในมือเพื่อซื้อข้าวสาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศส่งข้าวออกสู่ตลาดโลกมาช้านาน การขาดแคลนข้าวจึงเป็นปัญหาที่ชี้ให้เห็นความวิกลของระบบและรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด การขาดแคลนข้าวยังตามมาด้วยการขาดแคลนน้ำตาลทราย สาเหตุของการชาดแคลนจะเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม สิ่งที่แจ้งชัดคือ รัฐบาลไม่สามารถ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ได้ และที่ยิ่งทำให้เหตุการณ์ร้ายแรงลงไปอีกคือ กรณีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นป่าสงวน ตามข่าวคณะที่ไปทุ่งใหญ่ซึ่งมีดาราภาพยนตร์ไปด้วยนั้น เป็นคณะล่าสัตว์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการท้าทายต่อความถูกต้อง ทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลเสียหายอย่างมาก และเมื่อเรื่องราวเลยเถิดไปจนถึงการคัดชื่อนักศึกษารามคำแหง จำนวนหนึ่งออกจากบัญชีนักศึกษา เพราะได้ตีพิมพ์บทความถากถางกรณีทุ่งใหญ่และการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม ก็ได้มีการประท้วงอธิการบดี การประท้วงเริ่มต้นด้วยเรื่องการที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกคัดชื่อออกจากบัญชีนักศึกษา แต่ตอนปลาย ๆ ได้มีการเปลี่ยนประเด็นเป็นเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลรีบตัดบทโดยการจับบุคคลที่สาม จากนั้นก็สัญญาว่าจะรีบเข็นรัฐธรรมนูญออกมา สิ่งซึ่งนักศึกษาได้เรียนรู้จากการเดินขบวนประท้วงคราวนี้ก็คือ ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นทางการเมืองซึ่งรัฐบาลมีความรู้สึกไว และการเดินขบวนประท้วงนั้นได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
7. จากที่กล่าวมาทั้งหมด ตั้งแต่ปัญหาโครงสร้างมาจนถึงปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาล จะเห็นว่าเปรียบเสมือนการจัดเวที ซึ่งจะต้องมีการเริ่มต้นการแสดงโดยตัวละคร ซึ่งในที่นี้ได้แก่ ขบวนการนักศึกษา ถ้าไม่มีขบวนการนักศึกษา เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 อาจยังไม่เกิดขึ้นเร็วขนาดนั้น ถ้าจะมีข้อผิดพลาดที่สำคัญในทางการเมืองของกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ก็คือการปล่อยให้เกิดศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้น ทั้งนี้เพราะการรวมตัวของนักศึกษาจะหนีไม่พ้นประเด็นทางการเมือง เมื่อสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจนั้น สฤษดิ์ห้ามมิให้มีกิจกรรมนักศึกษา นอกจากเรื่องกีฬา บันเทิง โต้วาที เพราะสฤษดิ์รู้ดีว่าถ้านักศึกษารวมกลุ่มกันจะเป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดจากการคัดค้านเลือกตั้งสกปรกสมัยจอมพล ป. เมื่อปี 2500 ดังนั้น ในช่วงที่สฤษดิ์มีอำนาจจนถึงตอนประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2512 ไม่มีกิจกรรมทางการเมืองใหญ่ ๆ นอกจากการเดินขบวนประท้วงศาลโลกที่ตัดสินให้ไทยแพ้ในกรณีเขาพระวิหาร แต่ระหว่าง พ.ศ.2512 – 2514 นั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยก็ได้เกิดขึ้น แม้จะมีการยึดอำนาจโดย จอมพลถนอมใน พ.ศ. 2514 การรวมพลังของนักศึกษาได้กระทำสำเร็จและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหลายเรื่อง เช่น การต่อต้านการขึ้นค่ารถเมล์ การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การต่อต้านคำประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ดังนั้น การเดินขบวนประท้วงของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
8. กลุ่มการเมืองที่สำคัญกลุ่มหนึ่งซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 คือ กลุ่มจารีตนิยมซึ่งได้แก่ ขุนนางข้าราชการหัวอนุรักษ์นิยม และผู้นิยมระบบการปกครองแบบจารีตประเพณีทั้งหลายตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา กลุ่มจารีตนิยมอยู่ในสภาพตกต่ำ ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 ได้ขึ้นเถลิงและผูกขาดอำนาจกลุ่มผู้ก่อการ 2475 เป็นกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มจารีตนิยม ดังนั้น เมื่อจอมพล ป. ตกจากอำนาจไป สถานะของกลุ่มจารีตนิยมก็กระเตื้องขึ้น แต่ก็ยังติดขัดอยู่ที่การผูกขาดอำนาจของกลุ่มทหาร และการผูกขาดดูเสมือนว่าจะสืบต่อไปอีกจากการพยายามสืบทอดอำนาจของพันเอกณรงค์ ดังนั้น ถ้ามีการขจัดกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ เสีย ฐานะของกลุ่มจารีตนิยมก็จะดีขึ้น ซึ่งทำให้น่าคิดว่าการล้มกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ น่าจะได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มนี้อย่างน้อยก็ในทางอ้อม สภาพ 14 ตุลาคม 2516
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มต้นด้วยการเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญของกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่ง (มีอาจารย์ร่วมด้วยหนึ่งคน) ในวันที่ ตุลาคม 2514 และถูกตำรวจจับซึ่งเป็นจุดที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนหน้านั้นก็ได้มีการเซ็นชื่อ80 คน เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และยังมีจดหมายจาก ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี โดยเขียนเป็นจดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึง นายทนุ เกียรติก้อง ให้มีกติกาของหมู่บ้าน ไทยเจริญ” อย่างไรก็ตามการจับผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของรัฐบาลของกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์
ผู้ถูกจับตัวมีครั้งแรก 11 คน ต่อมาได้จับนักศึกษาอีกผู้หนึ่งและได้จับนักการเมืองผู้หนึ่งด้วย นักการเมืองผู้นี้เป็นผู้อยู่ใต้ความอุปถัมภ์ของอดีตอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งไม่ได้ต่ออายุราชการ ทำให้ชี้ให้เห็นว่า การจับบุคคลที่ 13 น่าจะกระทำไปเป็นการตัดไม้ข่มนาม และอาจจะไม่เกี่ยวกับ 12 คนแรก ก็เป็นได้
ผลที่ตามมาก็คือการชุมนุมโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยโดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การประท้วงประกอบด้วยการอภิปรายโจมตีรัฐบาลและตัวบุคคลซึ่งได้แก่ จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ จำนวนของผู้ประท้วงมีมากขึ้นตามลำดับ จนผลสุดท้ายกลายเป็นการประท้วงที่ประกอบด้วยคนจำนวนไม่ต่ำกว่าห้าแสนคน เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มตั้งแต่วันที่ ตุลาคม 2516 และสิ้นสุดลงวันที่ 16 ตุลาคม2516 แต่เหตุการณ์ที่เกิดนองเลือดคือ วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงได้ขนานนามเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งนั้นว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
การนองเลือดที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากการประท้วงขนานใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลานโพธิ์ ตั้งแต่วันที่ ตุลาคม ในวันที่ 13 ตุลาคม ผู้ประท้วงทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษานักเรียนประชาชนก็เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างตอนบ่ายของวันที่ 13 จนถึงเช้า 14 ตุลาคม เป็นช่วงเวลาของการเจรจาต่อรองระหว่างกรรมการของศูนย์และรัฐบาลผสมผสานกับความสับสน ความไม่เข้าใจบางประการของกลุ่มผู้นำ ความตึงเครียดซึ่งซับซ้อน และที่สำคัญคือ การนองเลือดที่เกิดขึ้นในเช้า 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดจากการประท้วงกันระหว่างตำรวจและผู้ประท้วง ได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่น่าเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นักศึกษาอาชีวะจำนวนหนึ่งได้เสียสละชีวิต ทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธ ที่น่าเศร้าสลดคือ คนไทยฆ่ากันเองมีการเสียเลือดเสียเนื้อ ชีวิต (ประมาณ 80 คน) และทรัพย์สิน มีการเผาอาคารราชการ การทำลายสัญลักษณ์จราจร ฯลฯ ได้มีการพยายามเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่ความสงบโดยสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระชนนี และผลสุดท้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงออกโทรทัศน์รับสั่งว่า “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค” และได้รับสั่งให้ทุกฝ่ายกลับไปสู่ความสงบ หยุดยั้งการรบราฆ่าฟันกันเอง แต่ประชาชนที่ประท้วงก็ยังคงประท้วงต่อ แม้จอมพลถนอมจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม ผลสุดท้ายเมื่อมีการประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ ยินยอมเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว ฝูงชนก็เริ่มทยอยกันกลับสู่เคหะสถานของตน เป็นอันสิ้นสุดการประท้วงและรัฐบาลทหารของกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ก็ถูกโค่นล้มลง
ผลการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516
เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายสัญญาธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่น่าคิดคือ ทำไมกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ จึงหลุดจากอำนาจ คำตอบก็คงจะอยู่ที่ตัวแปรต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้สูญเสียตำแหน่งแก่ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งทำให้คิดว่าเป็นการถ่ายดุลอำนาจไปยังกลุ่มผู้อุปถัมภ์อื่น นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า ระหว่างการประท้วงนั้น ได้มีการร่วมมือช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อซื้ออาหารให้แก่นักศึกษา โดยข้อนี้ จึงกล่าวได้ว่าการล้มรัฐบาลกลุ่มอำนาจของถนอม – ประภาส – ณรงค์ มีลักษณะแนวร่วมอย่างกว้างขวางคือ ปัญญาชนและมวลชน ผนึกกำลังกับกลุ่มพลังทางการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มผู้อุปถัมภ์ที่เป็นคู่แข่งของกลุ่ม ถนอม – ประภาส – ณรงค์ รวมทั้งกลุ่มจารีตนิยมได้ล้มรัฐบาลทหารกลุ่มถนอม – ประภาส ณรงค์
ผลที่เกิดขึ้นคือ
(1) การล้มรัฐบาลทหารไทย โดยการประท้วงของประชาชนในขนาดที่ไม่เคยมีมา ก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
(2) การทำลายกลุ่มอุปถัมภ์สำคัญกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผูกขาดอำนาจมานาน และมีท่าที จะสืบทอดอำนาจต่อไป
(3) การเปิดโอกาสให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตย
(4) การกลับมามีบทบาทและอำนาจของกลุ่มจารีตนิยมมากขึ้น
(5) การเปลี่ยนแปลงและสรรหาตัวผู้อุปถัมภ์ใหม่ กล่าวคือ ผู้อยู่ใต้ความอุปถัมภ์ ของกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ต้องวิ่งหาผู้อุปถัมภ์
(6) ทหารและตำรวจเสียความเชื่อถือลงไปมาก ในขณะเดียวกันกลุ่มนิสิต นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น
การล้มรัฐบาลกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ซึ่งได้รับสมญานามว่า สามทรราชย์” นั้น เบื้องแรกดูจะเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยอันสดสวยงดงาม ทุกอย่างดูจะดำเนินไปสู่ในแง่ดีของอนาคตของประเทศชาติ และความหวังเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเต็มไปด้วยสิทธิ เสรีและนี้เป็นบรรยากาศที่ปรากฏอยู่ทั่วไป แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานความรู้สึกในแง่ดีต่าง ๆ ก็เริ่มเจือจางไปด้วยความไม่แน่ใจ การล้มอำนาจเผด็จการเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การสร้างประชาธิปไตยเป็นอีกเรื่องหนึ่งและกระบวนการทั้งสองไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน หรือกระบวนการอันหลังไม่จำต้องตามมาโดยอัตโนมัติ
สภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2517
หลังการล้มของรัฐบาลกลุ่ม ถนอม – ประภาส – ณรงค์ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยุบสภา จากนั้นก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติขึ้น2,346 นาย และให้มีการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติจากสมาชิกสมัชชาขึ้น 299 นาย เพื่อทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ
นอกจากนั้น ก็มีการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนชาวไทย ใช้ถาวรต่อไป
เพื่อให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้ผล ได้มีคณะกรรมการเผยแพร่ประชาธิปไตย โดยมีนักเรียน นิสิต นักศึกษามาสมัครเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ประชาธิปไตยในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าได้นำไปสู่การขัดแย้งกันระหว่างนักศึกษาซึ่งมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามแนวความคิดของตน กับกลุ่มข้าราชการซึ่งมีลักษณะอนุรักษ์นิยมและยึดมั่นในค่านิยมดั้งเดิม
สิ่งที่ทำให้ประชาชนทั่วไปคลายความเชื่อมั่นเรื่องอนาคตทางการเมืองที่ควรจะแจ่มใสก็คือ ปัญหาที่หมักหมมมานานได้ถูกเปิดเผยขึ้น พร้อมทั้งโอกาสเปิดสำหรับการแสดงออก ต่อปัญหาในด้านต่าง ๆ อาทิ การกดขี่ข่มเหงโดยข้าราชการและโดยระบบราชการทั้งหมดนี้ออกมาในรูปของการเดินขบวนเรียกร้องต่อรัฐบาล หรือโดยผ่านตัวแทนกลุ่ม การนัดหยุดงานของผู้ใช้แรงงาน การเดินทางเข้ามาร้องทุกข์ในกรุงเทพฯ ของชาวนา ดูประหนึ่งว่าถนนทุกสายมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขจัดปัญหาความอยุติธรรมต่าง ๆ ซึ่งในหลายกรณีก็มีเหตุผลฟังได้ แต่ในหลายกรณีก็เป็นการฉวยโอกาส แต่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าราชการหน่วยต่าง ๆ เป็นกลไกที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องวิ่งเข้าหารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ในขณะที่สังคมไทยกำลังประสบปัญหายุ่งยาก เต็มไปด้วยบรรยากาศของความขัดแย้งเคร่งเครียดและการประจัญหน้า ก็ถูกซ้ำเติมด้วยการขึ้นราคาน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อส่งออก (โอเปค) ทำให้เกิดปัญหาน้ำมันราคาแพงและขาดแคลน จนถึงกับมีมาตรการบางอย่างเพื่อการประหยัด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา นอกจากนั้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็ได้ถีบตัวสูงขึ้นจากการขึ้นราคาน้ำมัน ปัญหาซึ่งมีมากอยู่แล้วก็กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น
แต่อาศัยที่รัฐบาลซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีที่มือขาวสะอาดและคณะรัฐมนตรีที่มีคุณภาพดีกว่าหลาย ๆ ชุดในอดีต ก็สามารถประคับประคองรัฐนาวาไปได้ จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม 2518
สรุปสภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2517 นั้นกล่าวได้อย่างสังเขปว่า ในแง่สังคมนั้นพลังมวลชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ในกรอบของการเมืองระบบพ่อขุนได้พวยพุ่งออกมาแสดงข้อเรียกร้องต่าง ๆ ปัญหาที่มีการเรียกร้องต่อระบบการเมืองมีทั้งเรื่องความอยุติธรรมในด้านสังคมและเศรษฐกิจ การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกข่มเหงรังแก ในแง่เศรษฐกิจนั้น การขึ้นราคาน้ำมัน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว สินค้าขึ้นราคา ปัญหาดังกล่าวออกมาในแง่ของการแสดงออกทางการเมือง ในด้านการเมืองนั้น ความพยายามในการวางรากฐานประชาธิปไตย ก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีการร่างรัฐธรรมนูญ การเผยแพร่ประชาธิปไตย การอภิปรายปัญหาบ้านเมือง การรวมตัวของกลุ่มต่าง ๆ เช่น สมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส) และกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ปช.ปช.) เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีการรวมกลุ่ม เช่น กลุ่มดุสิต 99 กลุ่มพลังใหม่ เพื่อเตรียมการก่อตั้งพรรคการเมือง ความตื่นตัวทางการเมืองและสภาวะพลวัตมีอยู่ทั่วไป คละไปกับปัญหาต่าง ๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ค่อนข้างจะสับสน และเสมือนกับจะเป็นการพยากรณ์ให้เห็นความยุ่งยากในอนาคต
ในช่วงนี้ทหารและตำรวจต่างก็สงวนบทบาทและท่าที คอยเฝ้าดูพัฒนาการต่าง ๆ อย่างสงบ แต่ก็เริ่มมีการส่อให้เห็นการเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับปัญหาที่กำลังจะติดตามมา กลุ่มนิสิตนักศึกษาก็เริ่มมีรอยร้าวเกิดขึ้น มีการแยกตัวออกเป็นสองกลุ่ม คือ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กับสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่แตกออกไปจากกลุ่มแรก เพราะเริ่มมีความคิดในทางการเมืองต่างกัน และบางพวกก็ไปสังกัดกับกลุ่มจัดตั้งซึ่งได้รับความสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ และมีกิจกรรมที่ถ่วงดุลกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา
การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517
เมื่อประกาศรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2517 แล้วก็มีการเลือกตั้งเดือนมกราคม พ.ศ.2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมได้เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นรัฐบาลผสมซึ่งต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ประกาศยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พี่ชายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจนเกิดนองเลือดและรัฐประหารเมื่อ ตุลาคม ในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการสิ้นสุดยุคประชาธิปไตยอันสมบูรณ์แบบ
เนื่องจากจุดประสงค์ของงานศึกษานี้ต้องการมองภาพเหตุการณ์อย่างกว้าง ๆ จึงขอพูดถึงยุคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517 รวม ๆ กันไป
ประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517 เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เพราะเป็นประชาธิปไตยที่ได้มาโดยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นับได้ว่าเป็นประชาธิปไตยที่มาจากการต่อสู้ของมวลชน สิ่งที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวมองได้เป็นสองแง่ คือ ในแง่บวกและในแง่ลบ
ในแง่บวก
ในแง่บวกนั้น การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517 มีอยู่หลายแง่ คือ
1. โอกาสของการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล การแก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆ แสดงเด่นชัดว่าคนไทยรู้กติกาและสามารถจะปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยได้ อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองและระบบ
2. ความตื่นตัวทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง การเรียกร้องและประท้วงต่าง ๆ ความสนใจของคนที่มาฟังคำอภิปรายต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งตีพิมพ์ที่เป็นวรรณกรรมทางการเมือง ชี้ให้เห็นลักษณะพลวัตรของการเมืองไทย ความตื่นตัวและความกระตือรือร้น การเรียกร้องสิทธิและการตระหนักถึงความสัมฤทธิผลทางการเมือง
3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง การพยายามจับกลุ่มและเข้าร่วมองค์กรการเมือง เป็นต้นว่า การเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองหรือการเข้าร่วมในกิจกรรมของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลักดัน เป็นการชี้แนะว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง (political infrastructure) กำลังดำเนินไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งชี้ให้เห็นการพัฒนาการเมืองในระดับหนึ่ง
4. ความเสมอภาคทางการเมือง จากข้อ และ ทำให้เกิดความเสมอภาคทางการเมืองมากขึ้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองลดน้อยลง และทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่ากับคนอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นจากการมีส่วนร่วมในการแสดงออก สังคมไทยมีลักษณะเปิด และคนด้อยอภิสิทธิ์รู้สึกว่ามีความเสมอภาคมากขึ้น ในขณะที่คนชั้นสูงก็ต้องปรับตัวกับสภาวะอันใหม่ด้วย
5. การตอบสนองของระบบราชการต่อความต้องการของประชาชนดีขึ้น ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น การวางอำนาจบาตรใหญ่ลดน้อยลง และความรู้สึกเรื่องประชาธิปไตยเริ่มเกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่อไปในทางบวก

ในแง่ลบ
ในแง่ลบนั้น การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517 เป็นการฝันร้ายของคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งพอจะแยกเป็นข้อ ๆ คือ
1. การเรียกร้องทางการเมืองมีมากเกินขอบเขต การเรียกร้อง การประท้วง การนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมาย (ปี 2516 – 501 ครั้ง/ปี 2517 – 357 ครั้ง/ปี 2518 – 241ครั้ง/ปี 2519 – 133 ครั้ง) การเข้ามาร้องทุกข์โดยชาวนา ฯลฯ ชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ซึ่งหลายกรณีมาจากความเป็นจริงและหลายกรณีมาจากการฉวยโอกาสที่ไม่สมเหตุสมผล แต่ที่สำคัญก็คือการเรียกร้องทางการเมืองอันมากมายนี้ ชี้ให้เห็นว่าการตื่นตัวทางการเมืองกำลังถึงจุดสูง ซึ่งเกินเลยกว่าความสามารถและทรัพยากรของระบบการเมือง จะรองรับได้
2. ปฏิกิริยาตอบโต้จากกลุ่มอนุรักษ์นิยม การกำเนิดของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งได้มีการเรียกร้องทางการเมือง ได้นำไปสู่การเกิดกลุ่มต่อต้าน หรือกลุ่มคานขึ้นมา ซึ่งมีกิจกรรมที่แสดงออกในทางความรุนแรง เป็นการคุกคามต่อการรวมกลุ่มทางการเมือง เช่น กลุ่มกระทิงแดง เป็นต้น กลุ่มกระทิงแดงเป็นกลุ่มจัดตั้งสนับสนุนโดยผู้มีอำนาจ มีลักษณะเป็นกลุ่มกึ่งทางการ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการประจัญหน้ากับกลุ่มอื่น ๆ
3. การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา การแสดงออกทางการเมือง เริ่มส่อให้เห็นความรุนแรงมากขึ้น จนเกิดความรู้สึกว่าบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป ความรุนแรงที่เห็นได้ชัดคือ การที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งยกพวกไปทำลายบ้านนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช การยกพวกเข้าเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การพยายามขว้างระเบิดที่ทำการพรรคพลังใหม่ และในการชุมนุมการหาเสียงของพรรคพลังใหม่ในชนบท การขว้างระเบิดใส่การชุมนุมของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ การขว้างระเบิดใส่ผู้เดินขบวนประท้วงการตั้งฐานทัพอเมริกา และสถานีเรด้า การสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน อดีตเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ฯลฯ ล้วนแต่ส่อให้เห็นความวุ่นวาย และปั่นป่วนทางการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ กลียุคทางการเมืองกำลังจะตามมา
4. ความคิดทางการเมืองแตกแยกสุดโต่งสองขั้ว ปรากฏการณ์ที่น่าวิตกที่สุดคือ การแตกแยกในทางความคิดทางการเมืองของคนไทยที่แตกแยกเป็นสุดโต่งสองขั้ว และมีลักษณะประจัญหน้า การแตกแยกดังกล่าวคือ การแตกแยกของกลุ่มขวาจัดและซ้ายจัด ซึ่งมีความแตกต่างกันในแง่อุดมการณ์โดยฝ่ายขวาจัดมองดูฝ่ายซ้ายจัดหรือหัวก้าวหน้าว่าเป็นกลุ่มที่เป็นภัยต่อสังคมไทย เป็นคอมมิวนิสต์ที่มุ่งทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนกลุ่มซ้ายจัดก็มองดูกลุ่มขวาจัดว่าเป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี พวกปฏิบัติการที่พยายามจะหยุดการหมุนของกงล้อประวัติศาสตร์
ปรากฏการณ์อีกอันหนึ่งคือ การตีพิมพ์วรรณกรรมของพวกหัวก้าวหน้าและพวกซ้ายจัดออกมามากมายก่ายกอง มีทั้งงานเขียนและงานแปล เช่น สารนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตุง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศของความเสรี แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมตื่นผวา และพร้อมที่จะหยุดยั้งการพัฒนาดังกล่าว ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ทัศนคติของฝ่ายขวาที่ออกมาในรูปของการต่อต้านด้วยการมองดูว่า บุคคลเหล่านี้เป็นภัยอันใหญ่หลวงและต้องกำจัด จนถึงมีการกล่าวว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป” โดยภิกษุรูปหนึ่งและยังมีการแต่งเพลงปลุกใจต่าง ๆ รวมทั้งเพลงที่แสดงอารมณ์อันรุนแรงต่อต้านพวกซ้ายจัดว่าเป็น คนหนักแผ่นดินซึ่งเป็นบรรยากาศที่ตึงเครียด แตกแยก และน่าสะพรึงกลัว
สภาพการณ์ก่อน ตุลาคม 2519
สภาพการเมืองไทยก่อน ตุลาคม 2519 นับเป็นสภาพการณ์ที่กล่าวได้ว่า ความตึงเครียดทางการเมืองอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสุดขั้ว คือขวาจัดและซ้ายจัดถึงจุดสูงสุด ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองของผู้นำทางการเมือง และผู้นำทางทหารก็อยู่ในลักษณะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่ตั้งขึ้นก็เป็นรัฐบาลผสม วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็ได้พยายามแก้ไขไปได้บ้าง แต่กระแสของความขัดแย้งของขั้วสุดโต่งทั้งสองยากที่จะลดลงได้ ประกอบกับรัฐบาลผสมเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ ทำให้สภาพของการเมืองไทยอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ และเมื่อ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเดือนเมษายน 2519 บุคคลที่คอยค้ำจุนหรือเป็นหลักประกันระบอบประชาธิปไตยก็หายไปจากฉาก ทำให้บรรยากาศทางการเมืองซึ่งเต็มไปด้วยความตึงเครียดอยู่แล้ว เพิ่มความน่าสะพรึงกลัว และความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งนักวิชาการโดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์สามารถคาดการณ์ได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยคงอยู่ได้ไม่นาน การยึดอำนาจโดยทหารจะเกิดขึ้น เป็นแต่รอจังหวะและหาความชอบธรรมเท่านั้น ทั้งนี้เพราะยังมีมวลชนที่จับกลุ่มและจัดตั้งโดยเฉพาะศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่จะเป็นตัวค้านการยึดอำนาจ
ถ้ามองดูเหตุการณ์ก่อน ตุลาคม 2519 ซึ่งเต็มไปด้วยการเรียกร้องทางการเมืองและความขัดแย้งต่าง ๆ ทั้งในแง่ผลประโยชน์และอุดมการณ์แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติลงได้ในระบบที่เป็นอยู่ก็จะพบว่าสภาวะอันนี้สอดคล้องกับทฤษฎีการพัฒนาการเมืองและความผุกกร่อนทางการเมือง (political development and political decay) ของ ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ที่ว่า ถ้าอัตราความจำเริญทางการเมือง (political modernization) มีสูง กล่าวคือ ความตื่นตัวทางการเมืองซึ่งออกมาในแง่ของการแสดงออก การเรียกร้อง การประท้วง การต่อต้าน ขณะเดียวกันการพัฒนาการเมือง (political development) ซึ่งได้แก่ การจัดตั้งสถาบันทางการเมืองขึ้นมาจัดระเบียบการมีส่วนร่วม หรือความจำเริญทางการเมืองดังกล่าวมีต่ำ จะนำไปสู่ความผุกร่อนทางการเมืองซึ่งได้แก่ ความวุ่นวายและล้มทลายของระบบ ซึ่งหมายความว่า ถ้าประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง จะต้องมีการพัฒนาสถาบันทางการเมืองเช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้การมีส่วนร่วมนี้อยู่ในลักษณะจัดตั้ง มีระเบียบซึ่งสถาบันดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นตัวคั่นระหว่างรัฐบาลกับประชาชน มิฉะนั้น ประชาชนจะเข้าหาตัวรัฐบาลโดยตรง และถ้าเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นในขอบข่ายที่กว้างขวาง รัฐบาลซึ่งมีทรัพยากรจำกัดจะไม่สามารถตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมโดยตรงเช่นนี้ได้ ก็จะนำไปสู่ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการเมืองและผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่การล้มของระบบ ซึ่งสถานการณ์ระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 และ ตุลาคม 2519 มีสภาพดังกล่าว ทั้งนี้เพราะความจำเริญทางการเมืองมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะนโยบายพัฒนาประเทศของสฤษดิ์ ถนอม และประภาส คือระบบพ่อขุน ซึ่งเน้นการพัฒนาบ้านเมืองแต่แช่เย็นการพัฒนาทางการเมือง ในแง่ของการสร้างสถาบันเพื่อการมีส่วนร่วมและหาข้อยุติความขัดแย้ง เมื่อระบบพ่อขุนถูกล้มการสร้างระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นไม่ทันกับความจำเริญทางการเมือง และข้อสำคัญไม่สามารถยุติปัญหาต่าง ๆ ที่หมักหมมมานานในระบบเผด็จการพ่อขุน ทำให้เกิดการเสียดุลระหว่างปัญหาและความสามารถของระบบที่จะแก้ไขปัญหานั้น
ตุลาคม 2519 เป็นจุดดำทางประวัติศาสตร์ไทย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงโหดเหี้ยม ทารุณ มีการแขวนคอ ทำทารุณกรรมต่อศพ เผาศพหรือคนที่ยังไม่ตายสนิทในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะอธิบายด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงสัจธรรมได้ว่า เหตุการณ์ตุลาคม เป็นเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด น่าสังเวช และไม่ควรจะให้เกิดขึ้นอีก คนไทยต้องฆ่ากันเองในลักษณะทารุณผิดมนุษย์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแง่ชีวิต และเลือดเนื้อ เป็นสิ่งที่มากมายอยู่แล้ว แต่ความเสียหายทางขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะทางจิตวิทยาของคนไทยจำนวนมากนั้น คำนวณออกมาด้วยตัวเลขไม่ได้เลย วิธีการที่ดีที่สุดคือ การถือเอา 6ตุลาคม 2519 เป็นบทเรียนอันแพงลิ่วของประชาคมชาวไทย และทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก สภาพเหตุการณ์ ตุลาคม 2519
เหตุการณ์ ตุลาคม 2519 เริ่มต้นจากการเดินทางเข้าประเทศของ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งบวชเณรมาจากสิงคโปร์ เพื่อเข้ามาบวชพระที่วัดในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้น จอมพลประภาสก็ได้พยายามเดินทางเข้าประเทศมาครั้งหนึ่ง แต่ถูกนิสิตนักศึกษาและประชาชนต่อต้าน จึงทำไม่สำเร็จ ในกรณีของจอมพลถนอมนั้น เข้ามาโดยบวชเณร ห่มผ้าเหลืองเข้ามาเพื่อมาบวช การเข้ามาบวชนั้น ได้ออกข่าวทางสื่อมวลชนรวมทั้งโทรทัศน์ด้วย ซึ่งเป็นที่คาดกันว่าจะต้องนำไปสู่การประท้วงโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาและประชาชน การประท้วงก็ทำเช่นเดียวกับการชุมนุมประท้วงครั้งก่อน ๆ แต่เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปฏิเสธไม่ยอมให้ใช้สถานที่ ผลที่สุดกลุ่มชนก็ได้ใช้กำลังเข้ายึดมหาวิทยาลัย และใช้เป็นที่ประท้วงต่อไป ในการประท้วงนั้น ได้มีการแสดงการแขวนคอ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีผู้ถูกจับโดยต้องสงสัยว่ามีการกระทำผิดกฎหมายและถูกแขวนคอตายที่นครปฐม การแขวนคอที่ลานโพธิ์เป็นการล้อเลียนการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่มีขื่อไม่มีแปของกฎหมาย แต่ด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ภาพที่แขวนคอล้อเลียนนั้นมีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับภาพของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง โดยเฉพาะภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และดาวสยาม ซึ่งเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างอุกอาจ จึงได้เกิดการชุมนุมต่อต้านการประท้วงของกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันทางวิทยุยานเกราะก็ได้กระจายเสียงชี้ให้เห็นการกระทำโดยอุกอาจของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่การก็สายเกินแก้ เพราะอารมณ์ที่ถูกเร้า และความแตกแยกทางอุดมการณ์ซึ่งออกมาเป็นความเกลียดชังได้ทำให้เกิดความกระเหี้ยนกระหือที่จะห้ำหั่นกัน ผลสุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด ในวันที่ ตุลาคม2519 ได้มีการล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการต่อสู้กันด้วยอาวุธปืน จนเสียชีวิตไปไม่น้อย การยึดอำนาจ หรือการต่อสู้กันด้วยความรุนแรงทางการเมืองนั้นย่อมจะนำไปสู่การเสียชีวิตและเลือดเนื้อ แต่ที่น่าตระหนกและสังเวชใจคือ วิธีการอันทารุณที่กระทำต่อนิสิตนักศึกษา การแขวนคอ การเผาโดยใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อ การรุมฆ่า ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นจุดด่างดำในประวัติศาสตร์ ซึ่งคนรุ่นหลังต้องจดจำ เพื่อมิให้เกิดขึ้นอีก
ในเย็นวันที่ ตุลาคม นั่นเอง ก็ได้มีการยึดอำนาจการเมืองขึ้น นำโดยหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งมี พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า มีประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 การยุบเลิกรัฐสภา การเลิกพรรคการเมือง ฯลฯ และมีการตั้งนายกรัฐมนตรี พลเรือนขึ้นมาบริหารประเทศคือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบบเผด็จการทหาร
การเมืองไทยยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
รัฐบาลใหม่ นำโดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นรัฐบาลซึ่งเปรียบเสมือนเนื้อหอย โดยมีเปลือกหอย ซึ่งได้แก่ทหาร เป็นผู้ให้ความคุ้มครอง รัฐบาลธานินทร์ ซึ่งต่อมาถูกขนายนามว่า รัฐบาลหอย ได้วางแผนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยออกเป็นช่วง ๆ ใช้เวลาทั้งหมด 12 ปี มีนโยบายที่เด่นที่สุดคือ การต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยมีการอบรมข้าราชการ กรมกองต่าง ๆ ให้ตระหนักถึงภัยคอมมิวนิสต์ ในระดับระหว่างประเทศก็ได้มีการต่อต้านลัทธิและการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ได้มีการเรี่ยไรเงินสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และยังมีการออกหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา เพื่อทำเป็นหนังสือพิมพ์ตัวอย่าง เนื่องจากคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังขาดประสบการณ์ แม้ตัวนายกรัฐมนตรีจะมีจิตใจบริสุทธิ์ ผลที่ออกมาก็ไม่น่าพิศมัยนัก นโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะนโยบายสุดโต่งในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยม การมี กิจกรรมแปลก ๆ เช่น การพยายามสร้างเสาธงให้สูงมาก ๆ ฯลฯ ทำให้รัฐบาลถูกมองในแง่ตลก หรือเกินเลย จนมีเสียงซุบซิบเยาะเย้ยถากถาง และบ่อนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล และในจำนวนกลุ่มที่พยายามทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลก็มีทหารบางกลุ่มร่วมอยู่ด้วย
เพียงไม่ถึงครึ่งปีหลังจากรัฐบาลธานินทร์ เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีการพยายามยึดอำนาจโดยการใช้กำลังทหารอีก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 การพยายามยึดอำนาจครั้งนี้กระทำในโอกาสที่รัฐมนตรีส่วนใหญ่รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีเดินทางออกต่างจังหวัด เพื่อร่วมในโครงการพัฒนาประเทศในฤดูร้อน แต่ฝ่ายยึดอำนาจชะล่าใจ มิได้ยึดสถานีโทรทัศน์ และยังมีการยิงกันตาย เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ ผลสุดท้ายการยึดอำนาจล้มเหลว พลเอกฉลาด หิรัญศิริ หนึ่งในผู้นำกบฏ ซึ่งก่อนหน้านั้นออกบวชเป็นภิกษุสงฆ์ เพราะถูกปลดออกจากราชการหลัง ตุลาคม 2519 ได้ถูกลงโทษด้วยการยิงเป้า ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่นว่า จะทำให้เกิดการแตกแยกกันในหมู่ทหาร แต่ความจริงการพยายามยึดอำนาจก็เป็นการบ่งชี้แล้วว่ามีการแตกแยกเกิดขึ้น และมีการต่อต้านรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
จากสภาพการณ์ต่าง ๆ และจากข่าวลือซึ่งในแง่การเมืองไทย เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ มีการคาดการณ์ว่าจะต้องมีการยึดอำนาจเพื่อล้มรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผลที่สุดก็เป็นไปตามคาด ได้มีการยึดอำนาจด้วยกำลังทหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 คณะที่ยึดอำนาจการเมืองคณะนี้ จากที่ปรากฏแก่สาธารณชน นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ แต่ถ้าวิเคราะห์เจาะลึกน่าจะมีผู้หนุนหลังซึ่งไม่ต้องการออกหน้าอยู่ ผู้ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เกือบหนึ่งปีภายใต้รัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเรือน ภายใต้ความคุ้มกันของทหาร หรือรัฐบาลหอย โดยมีทหารเป็นเปลือกหอยนั้น ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ว่า
(1) เผด็จการ ไม่ว่าพลเรือนหรือทหาร ไม่มีอะไรแตกต่างกัน บางครั้งเผด็จการพลเรือนอาจจะน่ากลัวกว่าเผด็จการทหารเสียด้วยซ้ำ
(2) นโยบายสุดโต่ง ไม่ว่าขวาหรือซ้าย เป็นนโยบายที่ไม่น่าพึงประสงค์ การมีนโยบายสุดโต่ง ทำให้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และบ่อยครั้งนโยบายสุดโต่ง คือการหนีความไร้ความสามารถของตนเอง ด้วยการหาความปลอดภัยจากการยึดบางสิ่งบางอย่างอย่างเหนียวแน่น
(3) การปลุกความรู้สึกชาตินิยม หรือการใช้ลัทธิชาตินิยมในการบริหารประเทศ ถ้าทำเกินกว่าเหตุ รังแต่จะนำไปสู่ผลเสีย เพราะความรู้สึกชาตินิยมอันรุนแรง ก็คือความสุดโต่งแง่หนึ่ง ผลสุดท้ายจะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา
(4) ความบริสุทธิ์ใจ ความเป็นคนมือสะอาดเป็นคุณสมบัติที่น่าสรรเสริญ แต่ไม่เพียงพอที่จะคุมบังเหียนประเทศ ผู้บริหารประเทศต้องมีคุณสมบัติดังกล่าว แต่ต้องสามารถมองโลกในแง่วัตถุวิสัยและเล็งผลปฏิบัติ รวมทั้งชาญฉลาดในแง่กุศโลบายด้วย
(5) คนไทยเป็นชาติที่มีลักษณะบางอย่างที่น่าภูมิใจ กล่าวคือ จะรวมตัวสามัคคีกันเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ และจะไม่อดกลั้นต่อความสุดโต่ง ไม่ว่าทางใด ผลสุดท้าย เหตุผลจะเป็นตัวตัดสินการมีเหตุผล และอยู่ในทางสายกลาง และทัศนคติที่ออมชอม บางครั้งก็เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดผลในทางบวกได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น