ยุคที่สอง ยุคเผด็จการอำนาจนิยม (พ.ศ.2490 – พ.ศ.2516)
เป็นยุคที่คณะทหารและกองทัพได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครองประเทศ โดยการยึดอำนาจทำรัฐประหาร และถือว่าเป็นการดำเนินการปกครองของข้าราชการ โดยข้าราชการ และเพื่อข้าราชการ จนกระทั่งมีการให้สมญาการปกครองในยุคนี้ว่าเป็น “ยุคอำมาตยาธิไตย” โดยมีจุดเริ่มต้นจากการทำรัฐประหารโดยคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490
การรัฐประหารปี พ.ศ.2490 ซึ่งเกิดขึ้นสามปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีความสำคัญทั้งในนัยที่เป็นสัญลักษณ์และความเป็นจริง เป็นสัญลักษณ์เพราะว่ามีส่วนเสริมข้อถกเถียงที่ว่าทหารจะมีบทบาทสำคัญทางการเมืองและขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย ในความเป็นจริงเพราะว่านับจากนั้นไปฝ่ายเสรีนิยมต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ดังนั้นการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายผู้นำเสรีนิยมกับฝ่ายทหารจึงสลายไป ตั้งแต่ พ.ศ.2490 ประเทศไทยก็ได้แปรสถานภาพการเมืองโดยมีทหารปกครอง
รัฐประการเกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ และพันเอกหลวงกาจสงคราม บุคคลสำคัญอีกสองคนที่ร่วมวางแผนคือ พันเอกเผ่า ศรียานนท์ ลูกเขยของพลโทผิน และพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อมาบุคคลสองคนหลังได้กลายเป็นศัตรูกันในทางการเมือง รัฐประหารครั้งนั้นส่งผลให้จอมพล ป. กลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกในเวลาต่อมา แต่การรัฐประหารของการเมืองไทยก็คือว่า จะต้องทำให้การยึดอำนาจสมเหตุสมผล ดังนั้นทันทีที่ทหารยึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2490 นายควง อภัยวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎร จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ว่านายควงก็ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งโดยที่ยังอยู่ในตำแหน่งไม่ครบ 6 เดือน นับจากเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาเกือบ 10ปี จนกระทั่งถูกยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 ซึ่งทำให้เกิดรัฐบาลเผด็จการในลักษณะของเผด็จการแบบพ่อขุน
ทหารเริ่มรวมอำนาจได้ พวกเสรีนิยมก็เริ่มสูญเสียสถานภาพทางการเมือง นายปรีดีผู้ซึ่งถูกสงสัยว่าพัวพันกับกรณีปลงพระชนม์ในหลวงก็ถูกบีบให้หนีออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 1ตุลาคม พ.ศ.2491 เกิด “กบฏเสนาธิการ” หรือ “กบฏนายพล” โดยพลโทเนตร เขมะโยธิน และคณะพยายามล้มคณะรัฐประหาร 2490 พลโทเนตรถูกจับ เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารได้ทำลายนายทหารที่ไม่จงรักภักดีและเพื่อกระชับอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เกิดกบฏ “วังหลวง” โดยมีการพยายามล้มล้างอำนาจของจอมพล ป. โดยนายปรีดีและพวก นายปรีดีแอบเข้าประเทศและพยายามทำรัฐประหาร โดยอาศัยการสนับสนุนของกองทัพเรือ และพรรคพวกเสรีไทยจำนวนหนึ่ง การต่อสู้ได้เกิดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน นายทหารและพลเรือนหลายคนถูกฆ่าและบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหายมากมาย เป็นการพยายามรัฐประหารที่นองเลือด
ดูเหมือนว่า ทหารเรือจะเป็นพวกของฝ่ายเสรีนิยม มีการวิเคราะห์กันว่าทหารเรือนั้นเป็นหน่วยที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค เพราะต้องทำงานกับเครื่องมือทันสมัยและได้รับการศึกษาอบรม ดังนั้นจึงมีการอ้างว่าโลกทัศน์ทางการเมืองของทหารเรือจึงกว้างไกลกว่าของทหารหน่วยอื่น ๆ ดังนั้นทหารเรือจึงเป็นฝ่ายของพวกเสรีนิยม การกบฏที่พ่ายไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ไม่ได้หมายความว่าทหารเรือจะหยุดเพียงแค่นั้น ซึ่งจะเห็นได้จากการพยายามรัฐประหารอีกครั้งในสองปีต่อมาที่เรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน”
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 จอมพล ป. ถูกจี้จับโดยทหารเรือในขณะที่ประกอบพิธีบนเรือชื่อ แมนฮัตตัน ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกากำลังทำพิธีมอบให้รัฐบาลไทย ทหารเรือประกาศการตั้งรัฐบาลใหม่ทันที วันต่อมาก็เกิดต่อสู้กันอย่ารุนแรง ทหารบก ตำรวจและทหารอากาศสู้กับทหารเรือ จุดยุทธศาสตร์ของทหารเรือถูกระเบิด และเรือธงชื่อศรีอยุธยาก็ถูกจมโดยการทิ้งระเบิดของทหารอากาศ จอมพล ป. ซึ่งอยู่บนเรือลำนั้นได้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ความตึงเครียดทางการเมืองมีติดต่อกัน 3 วัน และตามรายงานมีผู้เสียชีวิตคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร 17 คน ตำรวจ 8 คน พลเรือน 103 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 500 คน กบฏแมนฮัตตันที่ล้มเหลวกลับเพิ่มอำนาจของรัฐบาลมากขึ้น เนื่องจากจอมพล ป. เป็นที่นิยมของสหรัฐอเมริกา จึงมีอำนาจต่อไปโดยการสนับสนุนของคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พอถึงปี พ.ศ. 2495 คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็สามารถทำลายอำนาจฝ่ายตรงกันข้ามทุกกลุ่ม ต่อจากนั้นก็เหลือเพียงการขัดแย้งส่วนตัวภายในกลุ่มเท่านั้น
หลังจากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว พวกเสรีนิยมก็สิ้นอำนาจและหมดบทบาทโดยสิ้นเชิง จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจมากขึ้นตามลำดับ แต่ไม่นานก็ต้องรักษาอำนาจโดยการถ่วงดุลอำนาจของสองกลุ่มซึ่งไม่ถูกกัน กลุ่มหนึ่งนำโดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ผู้ก้าวขึ้นสู่อำนาจเพราะจอมพล ป. พยายามขยายอำนาจของตำรวจ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งขึ้นมามีอำนาจอย่างรวดเร็ว
ในช่วงทศวรรษระหว่างปี พ.ศ.2483 – 2493 มี่สิ่งสำคัญที่เด่นชัดอยู่ 3 จุด สิ่งแรกก็คือ การคุกคามของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ ประเทศจีนถูกยึดอำนาจโดยเหมาเจ๋อตุง ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2492 กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเชื่อว่า นโยบายสู้เพื่อกันไม่ให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ลุกลามนั้นเป็นเรื่องจำเป็นท่ามกลางสงครามเย็น ซึ่งทวีความเข้มข้นขึ้นนั้น ในปีต่อมาก็ได้เกิดสงครามเกาหลี จอมพล ป. ซึ่งอยากพิสูจน์ว่าอยู่ฝ่ายตะวันตก ได้ขอส่งอาสาสมัครไทยไปรบกับคอมมิวนิสต์ ในตอนนั้นสหรัฐอเมริกาเริ่มช่วยรัฐบาลไทยทางเศรษฐกิจและทางทหาร รัฐบาลของจอมพล ป. ซึ่งเห็นทิศทางลมทางการเมือง จึงหันเหนโยบายทางด้านการต่างประเทศเข้ากับฝ่ายตะวันตก ในปี พ.ศ.2497 ประเทศไทยกลายเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEATO) และกรุงเทพฯ ก็เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ข้อตกลงมะนิลาได้ทำให้ผู้นำไทยมั่นใจว่าสหรัฐจะช่วยเหลือประเทศไทย ถ้าถูกรุกราน การตั้งซีโต้ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกคือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดอำนาจโดยชอบธรรมในการแทรกแซงของกองทัพนอกภูมิภาค ถ้ามีการบุกรุกโดยคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้ทำให้รัฐบาลไทยได้รับความอุ่นใจพอสมควร
ดังนั้น เมื่อช่วงต้นของทศวรรษ ระหว่างปี พ.ศ.2493 – 2503 ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ในค่ายฝ่ายตะวันตก ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา จอมพล ป. ผู้รู้กลเม็ดการรักษาตัวรอดได้ใช้นโยบายเข้ากับตะวันตก เพื่อให้อเมริกาสนับสนุนและเพื่อสร้างความชอบธรรมของอำนาจ ในขณะเดียวกันก็พยายามถ่วงดุลอำนาจของบุคคลที่มีอำนาจในรัฐบาล เช่น พลตำรวจเอกเผ่า และจอมพลสฤษดิ์
การพยายามทำรัฐประหารที่ไม่สำเร็จของทหารเรือได้มีส่วนทำให้อำนาจของจอมพล ป.เสื่อมลง ทั้งๆที่จอมพล ป. ได้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์มาได้ก็ตาม แต่การพยายามรัฐประหารแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของกองทัพ และฝ่ายที่ชนะก็ต้องพยายามรวบอำนาจก่อนที่ทุกอย่างจะคุมไม่อยู่
หลังจากชนะการสู้รบ กลุ่มรัฐประหาร พ.ศ. 2490 จึงตัดสินใจทำการรัฐประหารตัวเองอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2494 กลุ่มรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลและก่อตั้งคณะกรรมการบริหารชั่วคราวซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของคณะรัฐประหาร พร้อมกับล้มสภานิติบัญญัติที่มีสองสภา และแต่งตั้งสภาใหม่โดยประกอบด้วยสมาชิก 123 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวนเท่ากันเข้ามาภายใน90 วัน พรรคการเมืองถูกห้ามจัดตั้งหนังสือพิมพ์ก็อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของรัฐบาล จอมพล ป. ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่คณะรัฐประหารซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง อีกทั้งยังแต่งตั้งนายทหารและนายตำรวจมากมายซึ่งล้วนเป็นพวกของตนในสภาที่ตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้น อำนาจทางการเมืองตอนนี้เกือบจะผูกขาดโดยทหาร ทั้งพวกเสรีนิยม พวกเจ้าและพวกอนุรักษ์นิยมต่างก็เสียอำนาจทางการเมืองหมด รัฐประหารปี 2494 ทำให้อำนาจของฝ่ายตรงข้ามสิ้นสุดลงและทหารก็ได้ครองอำนาจอย่างมากมาย
ระหว่างปี พ.ศ.2495 ถึง พ.ศ.2498 การเมืองไทยเป็นช่วงที่ไม่มีผู้นำเด่นในการปกครอง การถ่วงดุลของอำนาจเกิดจากการแข่งขันอย่างมากระหว่างพลตำรวจเอกเผ่าและจอมพลสฤษดิ์ คนแรกมีอำนาจในการคุมกำลังตำรวจ ส่วนคนที่สองได้คุมกองทัพบก จอมพล ป. ได้แต่เล่นเกมถ่วงดุลของทั้งสองฝ่ายและอาศัยสถานภาพในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศและที่สำคัญที่สุด คือการสนับสนุนของอเมริกาเพื่อการอยู่รอด ในการรวบอำนาจให้อยู่ในมือนั้น ปกติจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเหตุการณ์ตึงเครียด จอมพล ป. มักจะขอร้องให้มีความร่วมมือ และจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในเวลาเกิดการโต้แย้งกันระหว่างเผ่ากับสฤษดิ์
ระหว่างปี พ.ศ.2495 ถึง พ.ศ.2498 การเมืองไทยเป็นช่วงที่ไม่มีผู้นำเด่นในการปกครอง การถ่วงดุลของอำนาจเกิดจากการแข่งขันอย่างมากระหว่างพลตำรวจเอกเผ่าและจอมพลสฤษดิ์ คนแรกมีอำนาจในการคุมกำลังตำรวจ ส่วนคนที่สองได้คุมกองทัพบก จอมพล ป. ได้แต่เล่นเกมถ่วงดุลของทั้งสองฝ่ายและอาศัยสถานภาพในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศและที่สำคัญที่สุด คือการสนับสนุนของอเมริกาเพื่อการอยู่รอด ในการรวบอำนาจให้อยู่ในมือนั้น ปกติจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเหตุการณ์ตึงเครียด จอมพล ป. มักจะขอร้องให้มีความร่วมมือ และจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในเวลาเกิดการโต้แย้งกันระหว่างเผ่ากับสฤษดิ์
พลตำรวจเอกเผ่านั้นเป็นนายตำรวจหนุ่มที่เต็มไปด้วยพลวัต ซึ่งได้เป็นนายพลเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2495 ในสมัยเผ่า กรมตำรวจได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โดยผ่านบริษัทอเมริกันชื่อ Sea Supply Corporation เผ่าได้สร้างตำรวจให้เป็นกองทัพเทียบเท่ากับหน่วยของทหาร นอกจากนั้น เผ่ายังอาศัยการค้าขายอื่น ๆ ในการหารายได้ บุตรเขยของจอมพลผินผู้นี้ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจอย่างรวดเร็ว พอถึงปี พ.ศ.2496 ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บุรุษผู้เข้มแข็งผู้นี้มีคำขวัญว่า “ไม่มีอะไรภายใต้พระอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” และก็ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตำรวจ เผ่าใช้กำลังตำรวจในการกำจัดศัตรูของรัฐบาล
สฤษดิ์ได้เป็นนายพลเมื่ออายุได้ 42 ปี มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 และมีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏ “แมนฮัตตัน” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2494 หลังการรัฐประหาร 2494 สฤษดิ์ก็ได้กลายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของจอมพล ป. ในปี 2497 ก็ได้ตำแหน่งแทนจอมพลผิน ผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของพลตำรวจเอกเผ่า โดยเป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อเดือนมีนาคม 2498 และดำรงตำแหน่งเป็นพลเรือเอกแห่งกองทัพเรือ และเป็นพลอากาศเอกแห่งกองทัพอากาศอีกด้วย ในปี พ.ศ.2499 สฤษดิ์ก็ได้เป็นจอมพล
ส่วนจอมพล ป. ได้ฉวยโอกาสจากการแข่งกันโดยทำหน้าที่เป็นตัวไกล่เกลี่ยและอาศัยความอาวุโส และสถานภาพในต่างประเทศและการสนับสนุนของอเมริกา แต่จอมพล ป. ก็พบว่า เส้นใยที่ขึงไว้ในการถ่วงดุลอำนาจนั้นยิ่งบางขึ้นทุกที และตัวเองกำลังจะเสียอำนาจเพราะเริ่มไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำที่เกินเหตุของเผ่า และการแข่งกันระหว่างฝ่ายตำรวจกับฝ่ายทหาร ดังนั้นจอมพล ป. จึงได้เดินทางรอบโลกจากเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2498
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการเดินทางของจอมพล ป. ได้เสริมฐานะทางการเมืองที่กำลังเสื่อมลง ผลพลอยได้จากการเดินทางก็คือ ความรู้สึกประทับใจที่ชาวอังกฤษแสดงความคิดเห็นที่ไฮด์ปาร์ค ซึ่งต่อมาก็มีการอนุญาตให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้าย ๆ ไฮด์ปาร์ค ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด
จอมพล ป. ประทับใจในการที่มีการถกเถียงกันในที่สาธารณะของชาวอเมริกันและชาวยุโรป จึงคิดส่งเสริมให้มีการสร้าง Town Hall เหมือนกับของอเมริกาและยุโรปตะวันตก โดยให้สร้างทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
หลังจากการเดินทางครั้งนั้น จอมพล ป. เริ่มทำสิ่งที่คิดว่าสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย เมื่อเดือนกันยายน 2498 จอมพล ป. ได้กล่าวขอให้รัฐสภาสนับสนุนให้ผ่านกฎหมายเพื่อให้มีพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือ 20 ปี และยกเลิกเงื่อนไขหรือคุณสมบัติเกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมด เพื่อจะได้มีคนมาลงคะแนนเสียงมาก ๆ จอมพล ป. ได้ประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 จอมพล ป. เริ่มพูดคัดค้านการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจตำรวจหรือทหารเพื่อผลทางการเมือง
เพื่อลดอำนาจของเผ่า จอมพล ป. วางแผนส่งเผ่าไปกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาการกู้เงินใหม่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทันทีที่เผ่าออกเดินทางไปกรุงวอชิงตัน จอมพล ป. ก็ปรับคณะรัฐมนตรี เผ่าถูกออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และจอมพลผินผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของเผ่าก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีอื่น ๆ ที่อยู่ฝ่ายเผ่าก็ถูกสับเปลี่ยน และแทนที่โดยพวกที่จงรักภักดีต่อจอมพล ป. และสฤษดิ์ จอมพล ป. รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยและกลาโหม พร้อมทั้งประกาศว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทยจะเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจประกาศการเตรียมพร้อมทางทหารและทางตำรวจ และสั่งการเคลื่อนทัพ ยกเว้นแต่ในสภาวะสงครามหรือจลาจล จากนั้นก็มีการโยกย้ายนายตำรวจและกำลังทหารหลายหน่วยออกจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการตัดกำลังอำนาจของเผ่า
ประชาธิปไตยใหม่ของจอมพล ป. ซึ่งอนุญาตให้ประชาชนโจมตีรัฐบาล กลายเป็นบทเรียนที่มีราคาแพง คำด่ารัฐบาลนั้นหนักหน่วงมาก และยิ่งกว่านั้น ความรู้สึกต่อต้านอเมริกันก็เพิ่มขึ้นและกลายเป็นเป้าหมายของการไฮด์ปาร์ค มีการเรียกร้องให้ถอนตัวออกจากซีโต้ จอมพล ป. และพวกไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับการรณรงค์ที่ไม่เป็นมิตรดังกล่าวแม้แต่น้อย ความอดทนต่อการด่ารัฐบาลอย่างห้าวหาญก็น้อยลงทุกที ดังนั้นรัฐบาลจึงห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองทุกชนิดและจับกุมพวกอดข้าวประท้วงกลุ่มหนึ่งที่ประท้วงเรื่องการมีสมาชิกสภาแบบแต่งตั้ง ฯลฯ รัฐบาลจอมพล ป. ให้เหตุผลการห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองและการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาล โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อชาติ และการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์
ทั้ง ๆ ที่การรณรงค์ของ “ประชาธิปไตยใหม่” ได้ปราชัย แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ก็ได้เกิดขึ้นตามกำหนดการ มีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่ลงแข่งกัน คือ พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. และพรรคประชาธิปัตย์ของนายควง อภัยวงศ์
หลังการเลือกตั้งมีการประท้วงเกี่ยวกับการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เรียกว่า ไพ่ไฟ และ พลร่ม การด่าว่าการเลือกตั้งสกปรกของสาธารณชนเริ่มมีมากขึ้น รัฐบาลหันไปแสดงพลังโดยการตั้งสฤษดิ์ให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย การรวมตัวกันของประชาชนทุกรูปแบบถูกสั่งห้าม บรรณาธิการหลายคนก็ถูกจับจากการเขียนบทความและคำกล่าวที่ต่อต้านรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีการแสดงอำนาจของทหารเพื่อข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม สถานที่ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ได้ถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และเครื่องบินก็บินต่ำ ๆ บนท้องฟ้าของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการข่มขู่ ท่ามกลางการแสดงพลังอำนาจของรัฐบาล กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประมาณ2,000 คน ก็ได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะต่อต้านรัฐบาล นิสิตเหล่านี้ลดธงชาติลงครึ่งเสาซึ่งเป็นการแสดงการไว้อาลัยประชาธิปไตยที่ตายไป ภายใต้การบอกแนะของสฤษดิ์ นิสิตเหล่านี้เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่มีคณะกรรมการประกอบด้วยนิสิตในการควบคุมการลงคะแนน นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อศาลสั่ง นิสิตสลายตัวเมื่อสฤษดิ์ขอให้สลายตัว และสฤษดิ์ได้กล่าวคำคมในประวัติศาสตร์ไว้ที่สะพานมัฆวานว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”
หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์และหลังการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้งที่สกปรก คะแนนนิยมและฐานะของจอมพล ป. เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พวกที่คัดค้านรัฐบาล และความเป็นเผด็จการและการใช้อำนาจผิด ๆ ของพลตำรวจเอกเผ่าก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะนั้นพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามต่าง ๆ พยายามหาทางล้มรัฐบาลของจอมพล ป.
ท่ามกลางวิกฤตการณ์ดังกล่าว พร้อมกับการเพิ่มการต่อต้านอเมริกัน ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านจอมพล ป. และเผ่า จอมพล ป. ได้พยายามอย่างมากในการทำให้สฤษดิ์อ่อนอำนาจลงโดยการบอกให้คณะรัฐมนตรีละเว้นจากการเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการค้าส่วนตัวทุกชนิด ซึ่งเป็นวิธีที่จะตัดรายได้ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางการเมือง สฤษดิ์ไม่แยแสต่อการขอร้องเหล่านั้น เป็นที่เห็นได้ชัดว่าความต้องการเหล่านี้ก็เป็นเพียงเพทุบายทางการเมืองของจอมพล ป. ในการที่จะทำลายอำนาจทางการเมืองและตำแหน่งทางทหารของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นและอำนาจของจอมพล ป. เสื่อมลง ความเป็นที่นิยมก็เสื่อมลง จอมพล ป. จึงพยายามรักษาอำนาจของตัวเองและพยายามลดอำนาจของสฤษดิ์อีก โดยการสั่งรัฐมนตรีทั้งหลายให้ตัดความสัมพันธ์กับองค์กรเอกชนทางการค้า สฤษดิ์ท้าทายคำสั่งของจอมพล ป. โดยการลาออกจากคณะรัฐมนตรี ลูกน้องคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ก็ทำตามโดยการลาออกจากคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม สฤษดิ์ยังคงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไว้ แต่ลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลา
ในวันที่ 16 เดือนกันยายน พ.ศ.2500 สฤษดิ์จึงทำรัฐประหาร ตามรายงานข่าวว่า สฤษดิ์จับแผนการรัฐประหารของเผ่าได้ จอมพล ป. หนีไปเขมร และต่อมาก็ขอลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมที่นั่นเมื่อ พ.ศ. 2508 เผ่าถูกส่งออกนอกประเทศและไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต่อมาเขาก็ถึงแก่อนิจกรรม
ในการปฏิบัติโดยทั่วไปในการเมืองไทยที่สฤษดิ์ไม่ได้เข้าครองอำนาจทันที พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 90 วัน แล้วจึงมีการเลือกตั้งทั่วไป ภายหลังการเลือกตั้ง พลโทถนอม กิตติขจร นายทหารซึ่งไม่มีใครรู้จักมากนักก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นสฤษดิ์ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาร่างกายที่โรงพยาบาลวอเตอร์หรีด ตอนหลังก็ได้ไปอังกฤษด้วยเหตุผลอันเดียวกัน และแล้วท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง การต่อสู้กันของกลุ่มภายในพรรคและในกองทัพ สฤษดิ์จึงยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 เดือนตุลาคม พ.ศ.2501 ซึ่งเป็นเวลาเดียวหลังจากที่ถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมทำรัฐประหารกับสฤษดิ์ รัฐธรรมนูญของปี 2495 จึงถูกยกเลิก เป็นการยุติรัฐบาลแบบประชาธิปไตย หลังจากนั้นประเทศไทยได้ถูกปกครองโดยเผด็จการแบบพ่อขุนภายใต้สฤษดิ์และผู้สืบทอดคือ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ระบบเผด็จการแบบพ่อขุนอยู่ได้เป็นเวลา 15 ปี โดยมีประชาธิปไตยครึ่งใบแทรกเข้ามาเล็กน้อย ก่อนที่จะถูกล้มโดยการลุกฮือซึ่งนำโดยนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และเหตุการณ์นั้นเรียกว่า “การปฏิวัติเดือนตุลาคม”
ที่มา:http://www.baanjomyut.com/library/2552/thai_politics/02.html
ที่มา:http://www.baanjomyut.com/library/2552/thai_politics/02.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น