จำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชม

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

การเมืองการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


โดย สถาบันพระปกเกล้า
       พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านการเมืองการปกครองที่สำคัญ ได้แก่

1. การตั้งอภิรัฐมนตรีสภา
อภิรัฐมนตรีสภานี้เปรียบดังที่ปรึกษาราชการชั้นสูงแก่พระองค์ อภิรัฐมนตรีชุดแรกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนั้น ประกอบด้วยพระบรมวงศ์ 5 พระองค์ คือ

1. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช 2468 – 2471
2. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต 2468 – 2475
3. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ 2468 – 2475
4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2468 - 2475
5. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ 2468 – 2475

เจ้านายผู้ใหญ่ 5 พระองค์นี้ทรงมีความรู้ความชำนาญแตกต่างกันดังนี้คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นผู้ใหญ่ทั้งในพระราชวงศ์ ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ทรงเป็นใหญ่ในทหารทั้งทหารบก ทหารเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นอัครศิลปินและที่นับถือว่าเที่ยงธรรม กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชี่ยวชาญทางด้านการปกครองท้องที่และราชการพลเรือน ทั่วไปทุกด้าน กรมพระจันทรบุรีนฤนาถทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ ทั้งห้าพระองค์เป็นที่ทรงนับถือขององค์พระมหากษัตริย์

อภิรัฐมนตรีทำหน้าที่ถวายข้อปรึกษาราชการในพระองค์และแผ่นดินจนถึง พ.ศ.2475 หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้มีประกาศยกเลิกอภิรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2475

2. รัฐมนตรีสภา
เป็นสภาของรัฐมนตรี เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2435 มีหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งหน้าที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ทำให้สภานี้มีลักษณะการดำเนินการบางประการที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองไม่ เต็มที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงคิดปรับปรุงสถาบันนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงทรงโปรดให้ทำหน้าที่พิจารณาปรึกษากฎหมายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพตามที่ได้รับพระบรมราชโองการ รัฐมนตรีแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ เสนาบดีหรือผู้แทน และผู้ที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง ในระยะต่อมาบทบาทของรัฐมนตรีสภาลดลง จึงได้มีพระราชบัญญัติยกเลิกในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2475

3. เสนาบดีสภา
เป็นสถาบันสืบทอดมาจากรัชกาลที่ 5 การประชุมมักไม่ได้เรื่องราวมากนักก่อนการปรับปรุงของรัชกาลที่ 7 เพราะเสนาบดีมักไม่ประสานงานกัน และไม่ใคร่แสดงความคิดเห็นในข้อราชการ พระมหากษัตริย์ต้องทรงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างกระทรวงอยู่ตลอดเวลา รัชกาลที่ 7 ทรงปรับปรุงให้มีระเบียบวาระและวัตถุประสงค์ของการประชุม ทรงเปลี่ยนหน้าที่ของเสนาบดีโดยให้เป็นฝ่ายรับนโยบายไปปฏิบัติอย่างเดียว ข้อราชการที่เสนาบดีเสนอจะนำเข้าที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาก่อนแล้วจึงนำมา พิจารณาในที่ประชุมเสนาบดีสภา จากนั้นเมื่อทูลเกล้าฯ ถวาย มีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้วเสนาบดีเจ้าของเรื่องจึงรับไปดำเนินการ ได้

4. องคมนตรี
เป็นสถาบันที่สืบทอดมาจากรัชกาลที่ 5 แต่มิได้มีบทบาทมากนักในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเป็นการแต่งตั้งผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มีจำนวนมากเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ ถึง 233 คนในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงปรับปรุงเสียใหม่ โดยทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติองคมนตรีพุทธศักราช 2470 พระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากจะว่าด้วยการแต่งตั้งและการออกจากองคมนตรีแล้วได้กำหนดให้มีสภา กรรมการองคมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก ประกอบด้วยกรรมการ 40 คนอยู่ในวาระยังคนละ 3 ปี เมื่อครบกำหนดจะทรงแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้ ต่อมาได้มีประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 หลังจากที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่ว คราว พุทธศักราช 2475 รวมทั้งยกเลิกสภากรรมการองคมนตรีกับให้เพิกถอนตำแหน่งองคมนตรีทั้งหมดอีก ด้วย

5. สุขาภิบาลและเทศบาล
การพัฒนาทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยโดยการกระจายอำนาจจากเบื้องบนสู่ เบื้องล่างในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นการสานต่อกิจการสุขาภิบาล ซึ่งเริ่มมาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์มีพระราชประสงค์จะปรับปรุงกิจการสุขาภิบาลให้เป็นรูปแบบของการบริหาร ส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาล (Municipality) หรือที่เรียกกันขณะนั้นว่า ประชาภิบาล ทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ หลังจากศึกษาแล้วคณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอว่าโครงการประชาภิบาลหรือเทศบาลยัง ไม่สมควรปล่อยให้ราษฎรดำเนินงานเทศบาลตามลำพัง เพราะยังไม่มีความรู้ทางด้านนี้เพียงพอ อย่างไรก็ตามควรมีการทดลองเลือกตั้งกรรมการที่ไม่เป็นข้าราชการประจำเข้า ร่วมดำเนินการด้วย นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้เสนอว่าการวางแนวทางในการจัดเทศบาลควรเป็นแบบค่อย เป็นค่อยไปทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสมควรแยกหน้าที่ของสุขาภิบาลที่ ต้องทำทั้งด้านรักษาความสะอาดและการให้ราษฎรรู้จักปกครองตนเองในรูปแบบการ ปกครองท้องถิ่น โดยให้หน้าที่การรักษาความสะอาดเป็นหน้าที่ของกรมสาธารณสุข ส่วนหน้าที่ให้ความรู้ในการปกครองตนเองเป็นของกรมมหาดไทย การดำเนินงานเพื่อจัดตั้งรูปแบบของเทศบาลและสุขาภิบาลของพระองค์ประสบปัญหา หลายประการด้วยกัน นับตั้งแต่เริ่มต้นปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึงการเปลี่ยนแปลงการ ปกครอง 24 มิถุนายน 2475 พระราชบัญญัติเทศบาลจึงมิได้ปรากฏออกมาแต่อย่างใด

โดยสรุปการบริหารราชการแผ่นดินนั้น อำนาจสิทธิเด็ดขาดมิได้อยู่ในบุคคลเดียว แต่อยู่ในกลุ่มบุคคลที่เป็นพระราชวงศ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิรัฐมนตรีสภา พระมหากษัตริย์ทางขาดอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะมีคณะบุคคลมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกับพระองค์ และบ่อยครั้งคณะบุคคลเหล่านี้ได้ทัดทานพระราชดำริที่พระองค์ทรงตั้งพระทัย ที่จะทำนุบำรุงความสุขสมบูรณ์ให้กิดกับทวยราษฎร์ของพระองค์ จึงสร้างความผิดหวังต่อสามัญชนที่มีความรู้ความสามารถและมีการศึกษาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศที่มีความคุ้นเคยต่อ วิธีการและวิถีชีวิตของบุคคลในระบอบประชาธิปไตย

สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

       สาเหตุส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองเกิดจากปัญหาทางการเมืองการปกครอง อาทิ ความไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปัญหาการผูกขาดอำนาจของอภิรัฐมนตรีสภา ปัญหาความขัดแย้งในกองทัพและปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้นำสามัญชนกับราชวงศ์ ซึ่งแยกอธิบายได้ดังนี้คือ

1. ความไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ความไม่พอใจในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงคุกรุ่นเรื่อยมาจนถึงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ความไม่พอใจดังกล่าวมีด้วยกันดังต่อไปนี้

- ทหารมีความรู้สึกว่าถูกเหยียดหยามและไม่ได้รับความสนใจจากผู้นำ
- การสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินเป็นไปโดยเหตุผลไม่สมควร
- การแบ่งชั้นระหว่างพวกที่เรียกตนเองว่า เจ้ากับไพร่
- ขุนนางผู้ใหญ่มีความเสื่อมทราม เหลวแหลก
- ข้าราชการทำงานเอาตัวรอดไปวันหนึ่ง ๆ โดยไม่คิดถึงประเทศชาติ
- ราษฎรไม่ได้รับการนำพาในการประกอบอาชีพ
- ชาวไร่ชาวนาไม่ได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมให้อยู่ในฐานะอันดีขึ้น
- ทุพภิกขภัย ความอดอยากแผ่ไปทั่วในหมู่กสิกร – ชาวนา เมื่อธรรมชาติไม่อำนวย
- ภาษีอากรเพิ่มขึ้นทุกปี
- ผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจเกินกว่ากฎหมาย ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน
- ขาดการศึกษาของพลเรือนเพื่อมิให้สติปัญญาเฉลียวฉลาดทัดเทียมชนชั้นปกครอง
- ความเจริญของบ้านเมืองขาดการทะนุบำรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือเริ่มต้นเปิดประเทศพร้อม ๆ กับญี่ปุ่น แต่ความเจริญของบ้านเมืองเทียบกันไม่ได้เลย
ในรัฐสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่า นี้เสมอมา แต่แนวความคิดของประชาธิปไตยที่เกิดจากความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของประเทศ โดยขบวนการ ร.ศ.130 นั้น ไม่หยุดอยู่นิ่ง ความคาดหวังของกลุ่มผู้นำในแนวคิดทางการเมืองเหล่านี้ยังคงปรารถนาที่จะนำ ระบอบการปกครองที่ตนได้เห็นได้ศึกษามาปกครองประเทศ และต้องการให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งผู้นำบางคนได้มีโอกาสทราบว่ารัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ… เพราะในขณะที่เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2474 พระองค์ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สี่ฉบับที่ไวท์ เพลน มลรัฐนิวยอร์ก (White Plains, New York) โดยประกาศว่าพระองค์กำลังเตรียมการด้วยความสมัครพระทัยที่จะจำกัดพระราช อำนาจส่วนพระองค์ให้น้อยลงเป็นลำดับ โดยให้สิทธิเลือกตั้งแก่ประชาชนโดยหวังว่าจะเป็นการปูพื้นฐานของการปกครอง แบบประชาธิปไตยในอนาคต เมื่อประชาชนได้รับการฝึกฝนให้รู้จักปกครองตนเอง ขั้นแรกจะเป็นการให้สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งระดับเทศบาล ซึ่งจะให้ความรู้ความชำนาญแก่ชาวไทยได้ พระองค์ได้มอบให้พระยาศรีวิศาลวาจา ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศเตรียมร่างรัฐธรรมนูญ และพระองค์ตรัสว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญแก่ราษฎรโดยเร็วที่สุดให้ทันวันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบรอบมหาจักรี แต่แนวพระราชดำรินี้ได้รับการทัดทานจากพระราชวงศ์ซึ่งเป็นอภิรัฐมนตรีสภา และขุนนางชั้นสูง

ความคาดหวังที่ไม่สมหวังก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ผู้เรียกร้องรัฐ ธรรมนูญมากยิ่งขึ้น และเป็นมูลเหตุผสมผสานกับแนวความคิดทางการเมืองที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยรัชกาล ที่ 5 รัชกาลที่ 6 คือความไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้แนวความคิดทางการเมืองนี้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบรรดาคนหนุ่มผู้มีการศึกษาต่างไม่พอใจ ซึ่งต่อมาปรกาฎว่าการสรรหาคัดเลือกบรรจุแต่งตั้งข้าราชการกระทำโดยใช้ระบบ อุปถัมภ์ เช่น ตำแหน่งอภิรัฐมนตรีและเสนาบดี ซึ่งส่วนมากเป็นเจ้านายและพระราชวงศ์ บุคคลหนุ่มที่มีการศึกษาเหล่านี้จึงเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกอยู่ใต้อิทธิพลของพระบรมวงศานุวงศ์ และมีความไม่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้นกับการปกครองที่อยู่ในอำนาจของบุคคลคน เดียว

2. ความไม่พอใจระบบอภิรัฐมนตรีสภา
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2468 พระองค์มีพระชนมายุ 32 พรรษาเต็ม พระองค์เคยรับราชการมาแต่ในการทหาร จึงต้องการผู้มีความรู้ความชำนาญในราชการพลเรือน จึงทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นเพื่อช่วยงานด้านนี้ มีสมาชิกเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ และสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ ประธานอภิรัฐมนตรีสภาพระองค์แรกคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช อภิรัฐมนตรีสภาประชุมกันทุก ๆ สัปดาห์ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าร่วมประชุมด้วย อภิรัฐมนตรีสภาจะกราบทูลถวายความเห็นในเรื่องราชการและเรื่องภายในพระ ราชวงศ์ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยและทรงรับผิดชอบแต่พระองค์ เดียว การแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีสภาในต้นรัชกาลให้ประโยชน์ในแง่ช่วยเหลือพระองค์ให้ เกิดความชำนาญในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อสมาชิกทิวงคต หรือสิ้นพระชนม์ พระเจ้า อยู่หัวจะทรงตั้งสมาชิกทดแทนทุก ๆ คราว อันทำให้ดูเป็นว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชประสงค์ที่จะทรงรับผิดชอบแต่ผู้ เดียว

มีบุคคลหลายระดับไม่พอใจการแต่งตั้งและการดำเนินงานของอภิรัฐมนตรี สภา เพราะสมาชิกทั้งเก่าและใหม่ล้วนเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทุก ๆ คราว คนสามัญที่เป็นคนดีมีความรู้ความสามารถหรือความชำนาญเพียงใดก็ไม่เคยได้รับ การแต่งตั้งเลย สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นระหว่างเจ้ากับขุนนางและผู้ ได้รับการศึกษา

3. ความแตกแยกในกองทัพไทย
นอกจากความแตกแยกร้าวฉานในกลุ่มเจ้ากับขุนนางและกับสามัญชนแล้ว ความแตกแยกที่เกิดขึ้นในกองทัพไทยก็ได้ปรากฏแทรกซ้อนอยู่ด้วย คือความแตกแยกได้เกิดขึ้นนับจากระยะเวลาที่มีการดุลข้าราชการออก จนถึงกับเสนาบดีกระทรวงกลาโหมลาออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งการที่กลุ่มนักเรียนทหารจากฝรั่งเศสต้องการเปลี่ยนระบบทหารให้เป็น ไปตามระบบการทหารของฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มนายทหารซึ่งจบจากเยอรมนีเป็นกำลังสำคัญอยู่ในกองทัพ อาทิ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และพ.อ.พระยาทรงสุรเดชรวมอยู่ด้วย ความแตกแยกทางด้านความนิยมในระบบฝรั่งเศสหรือเยอรมนีทำให้แต่ละฝ่ายแก่งแย่ง และบีบคั้นกันและกันทำให้ขาดความสามัคคีในกองทัพไทย

4. ความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัวระหว่างกลุ่มนักศึกษาในฝรั่งเศสกับพระราชวงศ์ชั้นสูงบางพระองค์
ก็ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักเรียนไทยในฝรั่งเศสฟ้อง มายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เอกอัครราชทูตไทยขณะนั้นทำความเสื่อมเสียแก่ประเทศชาติ เรื่องโกงเงินหลวงที่เป็นทุนเล่าเรียนของนักเรียน

สภาพความขัดแย้งและความแตกแยกในชนชั้นเจ้า ขุนนาง ทหาร และระหว่างกันเป็นสภาพการเมืองที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ จากระบบการปกครองที่อยู่ในมือของกลุ่มอภิสิทธิชนในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปก เกล้าเจ้าอยู่หัว และนับว่าเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

คณะราษฎร

        กลุ่มบุคคลผู้เป็นนักศึกษาจากต่าง ประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้คิดกันว่าการปกครองระบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้าสมัย ไม่อาจทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าได้ เพราะปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มิได้รับการแก้ไข ในระบอบการปกครองเก่า และเชื่อมั่นว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบใหม่แล้วจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้และทำให้ ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วทัดเทียมอารยประเทศตะวันตก ประกอบกับบุคคลกลุ่มนี้มีความไม่พอใจพระราชวงศ์ ขณะศึกษาอยู่ได้รับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ด้วย เหล่านี้มีส่วนผลักดันให้มีการเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเริ่มต้น ประชุมวางแผนที่บ้านนักเรียนไทยในฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2467 ผู้เข้าร่วมประชุมมีดังนี้คือ

1. นายปรีดี พนมยงค์
2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ
3. นายประยูร ภมรมนตรี
4. ร.ท.ทัศนัย นิยมศึก
5. นายตั้ว ลพานุกรม
6. นายแนบ พหลโยธิน
7. หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)

กลุ่มบุคคลเหล่านี้ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นคณะราษฎรโดยแท้จริงหลัง จากกลับไปรับราชการในประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายปฏิบัติการของกลุ่มไว้ 3 ประการดังนี้คือ
1. ศึกษาและวางแผนปฏิบัติ
2. หาพรรคพวกและผู้สนับสนุนซึ่งจะต้องเป็นบุคคลสำคัญในหน่วยราชการ
3. ต้องทำการหาทุนในการดำเนินงาน

ผู้นำของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นชาวอยุธยา เกิดเมื่อปี พ.ศ.2443 บิดามารดาเป็นชนชั้นกลาง มีอาชีพในการค้าขายและทำนา นายปรีดีได้รับการศึกษาในโรงเรียนสามัญของรัฐบาลจนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว จึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมาย ภายหลังที่เรียนจบและได้เป็นเนติบัณฑิตไทยแล้วได้เข้ารับราชการในกระทรวง มหาดไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2463 สอบชิงทุนของกระทรวงยุติธรรมได้และไปศึกษาจนจบปริญญาเอกทางกฎหมาย รวมทั้งได้ปริญญาชั้นสูงในวิชาการเศรษฐกิจอีกด้วย และกลับมารับราชการในกระทรวงยุติธรรมได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ตอนหลังได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์

ขณะที่ศึกษาในต่างประเทศ นายปรีดี ได้มีโอกาสเผยแนวความคิดของเขาแก่นายประยูร ภมรมนตรี ร้อยโท หลวงพิบูลสงคราม หลวงทัศนัยนิยมศึก และได้ร่วมมือกันปฏิบัติการตามอุดมการณ์ที่วางไว้ 3 ประการ ดังกล่าว บุคคลทั้ง 4 นี้ถือได้ว่าเป็นบุคคลผู้ริเริ่มวางแผนการและเป็นผู้นำชั้นแนวหน้าในการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ความคิดปฏิวัติขณะนั้นดูเหมือนจะเป็นความคิดที่เลือนลางเพราะแต่ละคนเป็น เพียงนายทหารและข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่ได้มีอำนาจควบคุมกำลังส่วนใหญ่พอที่ จะนำรัฐประหารยึดอำนาจได้ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็มิได้ละความพยายามแต่ทุ่มเทให้กับงานสำคัญคือ ขยายอุดมการณ์แนวความคิด อาศัยการตีสนิทชิดเชื้อกับนายทหารระดับสูงและข้าราชการที่มีอำนาจตาม เจตนารมณ์เดิม การเสาะหากำลังและสมาชิก เพิ่มเติมรวมทั้งเงินทุนได้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนประสบความสำเร็จ คือ นอกจากจะได้คนหนุ่มมาเพิ่มเติมซึ่งได้แก่ นายตั้วลพานุกรม ได้รับปริญญาเอกในวิชาวิทยาศาสตร์ นายแนบ พหลโยธิน นักเรียนไทยในอังกฤษ และหลวงสิริราชไมตรีแล้วยังได้ชักจูงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนั้นมีความเบื่อหน่ายต่อระบอบการปกครอง สภาพเศรษฐกิจและสังคมซึ่งไม่ได้รับการแก้ไข และได้ลอบวางแผนยึดอำนาจของรัฐ ซึ่งเผอิญไปสอดคล้องกับแผนของกลุ่ม คณะราษฎร ซึ่งเป็นนายทหารและข้าราชการชั้นผู้น้อย คนเหล่านั้นยังลังเลใจในการที่จะยึดอำนาจการปกครองอยู่ จนกระทั่งในตอนปลายปี พ.ศ.2475 กระบวนการหาสมาชิกเพิ่มของกลุ่มคณะราษฎรก็ได้ขยายแวดวงเข้ามาถึง กลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นสามัญชนและขุนนางที่ไม่พอใจระบอบการปกครองใน ขณะนั้นและได้ล่วงรู้แผนการปฏิวัติของกลุ่มนายทหารชั้นผู้น้อย และเข้าร่วมด้วย ผู้นำของกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ดังกล่าว ได้แก่

1. พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
2. พันเอก พระยาทรงสุรเดช
3. พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์
4. พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ
5. นายทหารซึ่งเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยทหารบกอีกหลายนาย

กลุ่มนายทหารผู้ใหญ่เหล่านี้ได้ช่วยกันขยายขอบเขตของสมาชิก และร่วมวางแผนการปฏิวัติกับกลุ่มนายทหาร และพลเรือนชั้นผู้น้อย สมาชิกในขณะนั้นมีเพียง 114 คนเท่านั้น คือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่อยู่ในกลุ่มของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และพันเอกพระยาทรงสุรเดช 8 คน นายทหารชั้นผู้น้อยที่อยู่ในกลุ่มของพันตรีหลวงพิบูลสงคราม และหลวงทัศนัยนิยมศึก 23 คน นายทหารเรือซึ่งนำโดยหลวงสินธุสงครามชัย 18 คน และอีก 65 คน ซึ่งเป็นพลเรือนนำโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

แต่ทหารเหล่านี้ก็มิได้เป็นทหารที่อยู่ในหน้าที่คุมกำลัง แต่ทำหน้าที่เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ยกเว้น พระยาฤทธิอัคเนย์ ซึ่งเป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งขณะนั้นก็ยังไม่ตกลงใจแน่วแน่ว่าจะร่วมมือด้วยอย่างจริงจังหรือไม่ ซึ่งทำให้คณะราษฎรหนักใจต่อการยึดอำนาจครั้งนี้ พ.อ.พระยาทรงสุรเดชได้รับมอบหมายจากกลุ่มให้หาทางแก้ปัญหาดังกล่าวนี้คือ ให้หาวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งกำลังทหารที่จะใช้ในการยึดอำนาจ การขบคิดแก้ปัญหาประสบผลตอนต้นปี พ.ศ.2475 นั่นคือ จะต้องมีการเคลื่อนกำลังทหารโดยการออกคำสั่งและคำชักชวนปลอมว่า ให้กองกำลังบางส่วนเคลื่อนกำลังออกไปปราบปรามผู้คิดกบฏต่อรัฐบาลโดยเฉพาะกรม ทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และบางส่วนชมการฝึกของนักเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 

เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

        รุ่งอรุณของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 กำลังทหารบก ทหารเรือ ก็ได้มารวมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ทั้งหมดเป็นกองกำลังในพระนคร บุคคลเหล่านี้มารวมกันโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว จากคำสั่งปลอมทั้งของกองทัพบกและกองทัพเรือ ส่วนนายทหารอื่น ๆ ที่คุมกำลังได้ตามเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน พวกที่รู้ตัว ได้แก่ ผู้นำก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้ถือโอกาสประกาศคำสั่งของคณะปฏิวัติต่อทหารบกและทหารเรือที่มาชุมนุม กัน ณ ที่นั้น ผู้ที่ประกาศคำสั่งของคณะปฏิวัติก็คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งขึ้นไปยืนอยู่บนรถถังร้องประกาศแก่เหล่าทหารที่มาชุมนุมกันว่า บัดนี้คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อที่จะจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยขึ้นปกครองประเทศ ทหารทั้งหลายพากันโห่ร้องต้อนรับคณะปฏิวัติ เนื่องจากมีความไม่พอใจระบอบการปกครองแบบเก่าอยู่แล้ว แต่บางคนก็จำใจทำไปอย่างสับสนต่อเหตุการณ์ขณะนั้น คณะปฏิวัติได้ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้โดยสิ้นเชิง และได้เชิญเจ้านายและพระราชวงศ์บางพระองค์ที่คุมกำลังทหารมากักไว้โดยให้ ประทับอยู่ภายในพระนั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นองค์ประกันของคณะราษฎร โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจมากที่สุด โดยคุมกำลังทหารและพลเรือนของประเทศส่วนใหญ่ไว้ และได้ทูลให้ลงพระนามประกาศที่คณะราษฎรนำมาถวายซึ่งมีข้อความว่า

“ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามได้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อ ของคนไทยด้วยกันโดยไม่จำเป็นเลย”

คณะปฏิวัติได้อาศัยประกาศนี้ซึ่งเป็นเสมือนคำรับรองจากผู้มีอำนาจ สูงสุดขณะนั้นออกคำสั่งให้ส่วนราชการทุกแห่งทั่วประเทศรวมทั้งกำลังทหารหัว เมืองควรปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ โดยไม่มีการหยุดชะงักใด ๆ เลย

ฝ่ายพลเรือนของคณะปฏิวัตินำโดยนายควง อภัยวงศ์ ได้ปฏิบัติงานในวันนี้ด้วยเช่นกัน โดยออกตระเวนตัดสายโทรเลข โทรศัพท์ ทั้งพระนครธนบุรี เพื่อปิดกั้นการติดต่อสื่อสารและสั่งการในสายการบังคับบัญชาหรือติดต่อกับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะปฏิวัติได้จัดทำแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติเพื่อแจกและแถลงต่อสื่อ มวลชนในวันปฏิวัตินั้นด้วยเช่นกัน

เมื่อเหตุการณ์ภายในพระนครวังเป็นไปด้วยดี คณะราษฎรก็ได้ทำหนังสือราชการซึ่งลงนามโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ส่งไปกราบถวายบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และอัญเชิญในหลวงกลับสู่พระนครเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่น ดินซึ่งคณะราษฎรได้ร่างขึ้น

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรก็ได้รับคำตอบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากหัวหิน แจ้งว่าพระองค์ทรงยอมรับความสิ้นสุดแห่งพระราชอำนาจสิทธิของพระองค์ และทรงรับทราบถึงการตั้งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ในแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขของประเทศ พระองค์ได้ทรงมีรับสั่งด้วยว่า พระองค์เองก็ได้ทรงคิดที่จะให้ประเทศไทยได้มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอยู่ แล้วเหมือนกันและทรงตั้งพระทัยว่า พระองค์จะทรงดำรงตำแหน่ง องค์พระประมุขของรัฐ และได้ทรงพระราชทานอภัยโทษโดยลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งร่างขึ้น ทูลถวายโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นิรโทษกรรมให้แก่คณะราษฎรผู้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในครั้งนั้น รวมความแล้วความสำเร็จในการปฏิวัติครั้งนี้ ส่วนสำคัญประการหนึ่งขึ้นอยู่กับความว่องไวของคณะราษฎรและการปฏิบัติหน้าที่ อย่างเคร่งครัดตามกฎระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของฝ่ายรัฐบาลคือ ทราบแผนการปฏิวัติก่อนแต่อ้างว่ายังไม่มีอำนาจจับกุม หลังจากได้ปรึกษากับกระทรวงยุติธรรมแล้ว ความชักช้าเหล่านี้เอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปโดยสะดวกตาม แผนที่วางไว้สมบูรณ์ที่สุด

แนวนโยบายและหลักการของคณะราษฎร แนวนโยบายของคณะราษฎรซึ่งกำหนดขึ้นมีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ ซึ่งกำหนดเป้าหมายกว้าง ๆ เพื่อให้งานของคณะราษฎรสำเร็จลุล่วงตามความประสงค์ก็คือ
1. ต้องให้มีพระเจ้าแผ่นดินตลอดไป
2. ต้องทำเพื่อประชาธิปไตย
3. ต้องฟังความเห็นซึ่งกันและกัน
4. ต้องมีความเห็นอันเที่ยงตรง
5. ต้องทำเพื่อมุ่งจรรโลงประเทศให้ก้าวหน้า
6. ต้องไม่ทรยศต่อประเทศชาติ
7. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต
8. ต้องไม่เย่อหยิ่งลืมตัว
9. ต้องมีความประพฤติดี
10. ต้องรักษาหน้าที่โดยเด็ดขาดและเที่ยงตรง

ส่วนหลักการของคณะราษฎรนั้นศึกษาได้จากประกาศของคณะราษฎรดังนี้คือ
  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
     
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
     
  3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
     
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
     
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าวข้างต้น
     
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
จากแนวนโยบายและคำประกาศของคณะราษฎรบอกให้เข้าใจถึงสภาพทางสังคมและ เศรษฐกิจที่เป็นสาหตุของการปฏิวัติ พ.ศ.2475 และหลังจากการปฏิวัติสำเร็จลงแล้ว ผู้นำการปฏิวัติได้วางหลักการปกครองบ้านเมืองไว้ด้วยโดยครอบคลุมด้านการ เมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 3 วัน คือในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับ ชั่วคราวนี้ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ร่างและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
นับว่าเป็นการมอบอำนาจการปกครองแก่คณะราษฎรเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มี การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้ามาปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้จึงมีผลเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์และเป็นกฎหมายที่ เริ่มศักราชใหม่แห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในด้านการปกครองได้มีการตั้งผู้นำฝ่ายบริหารราชการแผ่นดินอย่างรีบด่วนคือ ให้พันเอกพระยาพหลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารและได้ประกาศ แต่งตั้งผู้แทนราษฎรชุดแรกขึ้นจำนวน 70 คน โดยคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิในคณะราษฎร และอื่น ๆ และได้มอบอำนาจการปกครองแผ่นดินให้แก่สภาผู้แทนราษฎร (เป็นสภาเดียวสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด) ซึ่งเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475
จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 นั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวขึ้นโดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็น ประธานคณะกรรมการราษฎร และมีกรรมการราษฎรอีก 14 นาย ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นรัฐบาลจึงเป็นรัฐบาลภายใต้รัฐสภาคือ ฝ่ายบริหารอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐสภาโดยตรงและฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจยุบ สภา สภาผู้แทนได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ถาวรขึ้นใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศต่อไป และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2475 


ที่มา:http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/politics_in_the_reign_of_king_rama7/index.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น